รีเซต

'อนุทิน' สั่ง สสจ.ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโควิด กลุ่มแรงงานกลับบ้าน แบ่งเบาภาระ กทม.

'อนุทิน' สั่ง สสจ.ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโควิด กลุ่มแรงงานกลับบ้าน แบ่งเบาภาระ กทม.
ข่าวสด
28 มิถุนายน 2564 ( 15:29 )
90
'อนุทิน' สั่ง สสจ.ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโควิด กลุ่มแรงงานกลับบ้าน แบ่งเบาภาระ กทม.

 

'อนุทิน' สั่ง นพ.สสจ.ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโควิด ติดตามแรงงานกลับบ้าน แบ่งเบาภาระ กทม.ที่มีผู้ป่วยหนาแน่น พร้อมเปิดเตียงสนาม รพ.บุษราคัม เพิ่มอีกหลายพันเตียง

 

 

 

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. แถลงข่าวภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับผู้ตรวจราชการ สธ. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และ ผอ.รพ.ทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้ นพ.สสจ.ทุกจังหวัดบริหารจัดการ รพ.ในจังหวัดให้เป็นเครือข่าย ตรวจเช็กทรัพยากรที่มีในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยให้ผู้ตรวจราชการ สธ.บริหารจัดการทุก รพ.ในเขตสุขภาพ หากมีความจำเป็นต้องใช้เตียง อุปกรณ์การรักษา ก็ให้บริหารจัดการดูแลภายในเขตสุขภาพ

 

 

 

"ส่วนแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาได้ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ตามมาตรการเหมือนกับปีที่แล้ว ทั้งการรายงานตัว ให้ อสม.ติดตามผู้เดินทางเข้ามา หรือการกักตัวในโลคัลควอรันทีน ซึ่งในส่วนของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็ต้องให้นายจ้างร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย ทั้งหมดถือเป็นการช่วงแบ่งเบาภาระของ กทม. ซึ่งมีการติดเชื้อจำนวนมาก"

 

 

 

"ปัญหาความหนาแน่นอยู่ใน กทม. ซึ่ง สธ.ไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการอะไรได้ แต่พร้อมเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระ กทม. โดย สธ.จะดูแลเรื่องการรักษาอย่างเต็มที่ เพราะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้มีการป่วยหนักและเสียชีวิต เช่น เปิดเตียงสนามใน รพ.บุษราคัมเพิ่มขึ้นเป็นโคฮอทวอร์ด ซึ่งเรายังมีศักยภาพในการเพิ่มจำนวนเตียงได้อีกหลายพันเตียง โดยวันนี้จะมีการไปหารือกับทางเมืองทองธานี เพื่อขอใช้สถานที่ต่อจากเดือน ส.ค.ไปอีก รวมถึงการร่วมกับกองทัพบก และรพ.ธนบุรี จัดทำโคฮอทและไอซียูสนาม 186 เตียงที่มณฑลทหารบกที่ 11"

 

 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อแต่ละวันจะทำในระบบควบคุมโรค ซึ่ง สธ.ทำหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือหน่วยงานอื่นๆ เช่น ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ในการเฝ้าระวังคนไม่ให้หนีออกไปหรือลักลอบเข้าประเทศ

 

 

สำหรับเรื่องฉีดวัคซีนเน้นย้ำให้ฉีดตามนโยบายของ ศบค. คือ กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค ให้เสร็จภายใน 2 เดือน คือ ก.ค.-ส.ค. ซึ่งตอนนี้มีวัคซีนเข้ามาพอเพียง ต้องขอเห็นใจประชาชน ถ้าฉีดสองกลุ่มนี้ได้ อัตราการตายจะลดลง ส่วนประชาชนก็จะฉีดตามวงรอบ ขอให้ความมั่นใจระบบสาธารณสุขยังดำเนินการอยู่ สำหรับภายในมิ.ย.นี้ยืนยันว่าจะฉีดวัคซีนทะลุ 10 ล้านโดสตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งขณะนี้ฉีดไปแล้ว 9 ล้านกว่าโดส วัคซีนยังมีในสต๊อกเพียงพอ

 

 

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหามาอย่างเพียงพอในทุกเดือน ล่าสุด ผอ.อภ.รายงานว่า ช่วงกลาง ก.ค.ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ อภ.ใช้สารตั้งต้นมาผลิตในชื่อ "ฟาเวียร์" น่าจะได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจากผ่านการทดสอบชีวสมมูลแล้ว โดย ส.ค.จะเริ่มผลิตได้ ช่วงแรกผลิตเดือนละ 2 ล้านเม็ด และหากผลิตได้เพิ่มก็จะช่วยลดการนำเข้า

 

 

ด้านนายสาธิต กล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้านระหว่างรอเตียง (Home Isolation) อยู่ภายใต้การการพิจารณาของบุคลากรทางการแพทย์ และอยู่ในระบบการตรวจสอบ ติดตามอาการ หากอาการเปลี่ยนแปลงมีระบบส่งต่อไปรักษาตัวยัง รพ. โดยเริ่มดำเนินการแล้ววันนี้ (28 มิ.ย.) เฉพาะพื้นที่กทม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง