พาชม Toyota Mirai รถยนต์ไฮโดรเจน และสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกของไทย
- ประเทศไทยเริ่มเดินหน้าโปรเจกต์รถยนต์ไฮโดรเจนหรือ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) แล้ว ซึ่งเทคโนโลยีไฮโดรเจนเป็นอีกทางเลือกของพลังงานสะอาด โดยเปิดตัว Toyota Mirai (อ่านว่า มิไร) รถยนต์ไฮโดรเจนคันแรกของแบรนด์ และสถานีเติมพลังงานไฮโดรเจนแห่งแรกของไทย ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
สถานีเติมไฮโดรเจนแห่งนี้ เกิดจากความร่วมมือของ 5 บริษัทใหญ่ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) และบริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) เพื่อทดสอบการใช้งานและการจัดการพลังงานไฮโดรเจนผ่าน Toyota Mirai ที่ใช้เป็นรถโดยสาร Airport limusine จากสนามบินอู่ตะเภาไปยังพัทยาและชลบุรี เป็นเวลา 2 ปี
Toyota Mirai เป็นรถยนต์ไฮโดรเจนคันแรกของแบรนด์โตโยต้า ที่นำเข้ามาเพื่อทดสอบการใช้งานพลังงานไฮโดรเจนโดยเฉพาะ ซึ่งขับขี่ได้ระยะทางสูงสุด 750 – 850 กิโลเมตร ต่อการเติมพลังงาน 1 ครั้ง ใช้เวลาในการเติมไฮโดรเจนไม่เกิน 5 นาที
- ในส่วนของหัวจ่ายรถยนต์ไฮโดรเจนหน้าตาจะไม่เหมือนหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทตามแรงดัน ได้แก่ 350 บาร์ สำหรับรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่และ 700 บาร์ สำหรับรถยนต์ทั่วไป ซึ่งหัวจ่ายแบบในภาพจะเป็นแบบ 700 บาร์นั่นเอง หากสังเกตบริเวณรอบหัวจ่ายจะเป็นตัวเซนเซอร์อินฟราเรดที่ใช้ควบคุมความดันระหว่างหัวจ่ายและตัวรถ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเติมเชื้อเพลิง
บริเวณแผงคอนโซลกลางค่อนข้างเป็นระเบียบ พร้อมหน้าจอดิจิทัลขนาดใหญ่ที่บอกข้อมูลของระดับพลังงาน ด้านขวามือของฝั่งคนขับจะสอดแทรกกิมมิกของ Toyota Mirai ด้วยคือ ปุ่มกดสำหรับปล่อยน้ำ ซึ่งทางโตโยต้าใส่มาให้ผู้ขับขี่ขับรถยนต์ไปกดปล่อยน้ำที่สนามหญ้าหรือพื้นที่สีเขียวได้ด้วย บริเวณคอนโซลด้านหลังจะใส่ช่องเสียบ USB 2.1A มาให้ 2 ช่อง รวมถึงลำโพงจาก JBL ติดที่ประตูทั้งสองข้าง
แม้ไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์สำหรับคนไทย แต่จริง ๆ ในประเทศไทยก็มีการใช้ในภาคอุตสาหกรรรมอื่น ๆ มานานแล้ว ซึ่งพลังงานไฮโดรเจนน่าจะเหมาะกับรถขนาดใหญ่ เช่น รถบัสหรือรถขนส่ง ที่ต้องการเติมพลังงานในเวลาไม่นาน ไปจนถึงรถส่วนบุคคลที่ต้องเดินทางไกลและใช้เวลาเติมพลังงานสั้น ๆ น่าจะตอบโจทย์เลยทีเดียว คงต้องมารอดูกันว่าเมื่อไหร่พลังงานไฮโดนเจนจะมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย