รีเซต

ยอดร่วง! “iPhone” ไม่ติด 1 ใน 5 ยอดขายสูงสุดไตรมาส 1 ปีนี้ l การตลาดเงินล้าน

ยอดร่วง! “iPhone” ไม่ติด  1 ใน 5 ยอดขายสูงสุดไตรมาส 1 ปีนี้ l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
21 พฤษภาคม 2568 ( 15:49 )
8

รายงานฉบับล่าสุดจากบริษัทวิจัย Canalys (คานาลิส) เผยว่า ตลาดสมาร์ตโฟนในภูมิภาคอาเซียน กำลังเผชิญกับภาวะถดถอยอีกครั้ง โดยหดตัวลงไปร้อยละ 3 ในไตรมาส 1 ปี 2025 ที่ผ่านมา มียอดจัดส่งอยู่ที่จำนวน 22 ล้าน 8 แสนเครื่อง ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบปี หลังจากเติบโตมาต่อเนื่อง 5 ไตรมาสติดต่อกัน

ลี ซวน เฉียว (Le Xuan Chiew) ผู้จัดการฝ่ายวิจัย ของ คานาลิส ให้ความเห็นว่า ตลาดสมาร์ตโฟนในอาเซียนกำลังเจอกับความท้าทายที่มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น ความตึงเครียดด้านการค้าโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยภายในของแต่ละประเทศเอง เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาเงินเฟ้อ เหล่านี้ ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของตลาด

นอกจากนี้ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ยังส่งผลต่อความต้องการของผู้บริโภคให้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ตโฟนระดับราคาเริ่มต้น และระดับกลาง และผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ ยังทำให้ราคาขายของสมาร์ตโฟน เพิ่มขึ้น เฉลี่ยที่ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งเป็นระดับสูงสุด นับตั้งแต่ปี 2023 และส่วนหนึ่ง ยังเกิดจากการเปิดตัวสมาร์ตโฟนระดับไฮเอนด์จำนวนมากในช่วงไตรมาส 4 ของปีก่อน ทำให้ผู้ค้ารายใหญ่ต้องใช้เงินทุนมากขึ้นในการสต็อกสินค้า 

จึงส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับราคาเป็นหลัก อาจมองหาทางเลือกอื่นที่ถูกกว่า หรือชะลอการซื้อออกไปก่อน อีกทั้ง คาดว่าแนวโน้มปี 2025 ราคามือถือจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในภาวะตลาดที่ชะลอตัวนี้ จะเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์อย่าง Apple และ Samsung ที่จะเร่งดำเนินกลยุทธ์การกระจายการผลิต เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตจากจีน และขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ 

โดย 5 แบรนด์สมาร์ตโฟนที่มียอดขายสูงสุดของไตรมาส 1 ปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จีน และไม่มี ไอโฟน ของแอปเปิลติดอยู่ 1 ใน 5 นี้

อันดับ 1 คือ Samsung แบรนด์จากเกาหลี ที่กลับมาครองตำแหน่งสูงสุดได้อีกครั้ง ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 19 โดยมียอดจัดส่ง อยู่ที่ 4 ล้าน 3 แสนเครื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ยอดจัดส่งลดลงไปร้อยละ 3

อันดับ 2 คือ Xiaomi เป็นรายเดียวใน 5 อันดับแรกที่มียอดจัดส่งเติบโต โดยเติบโตที่ร้อยละ 4 ด้วยจำนวน 4 ล้านเครื่อง และครองส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 17

ถัดมาคือ TRANSSION (ทรานส์ชัน) ครองอันดับ 3 ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15 แต่ยอดขายลดลงมากถึงร้อยละ 20 นับตั้งแต่มีการเปิดตัวในช่วงต้นปี 2024 โดยไตรมาส 1 นี้ มียอดขายอยู่ที่จำนวน 3 ล้าน 3 แสนเครื่อง

ส่วน OPPO (ไม่รวม OnePlus) อยู่อันดับ 4 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 14 และมียอดจัดส่ง 3 ล้าน 2 แสนเครื่อง ยอดจัดส่งลดลงไปร้อยละ 16 

และ Vivo อยู่อันดับ 5 ในอาเซียน ครองส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 12 มียอดจัดส่ง 2 ล้าน 7 แสนเครื่อง ลดลงไปร้อยละ 3

หากแยกออกมาดูเฉพาะในประเทศไทย จะพบว่า 5 อันดับแรกแบรนด์สมาร์ตโฟนที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ได้แก่ Samsung ครองส่วนแบ่งตลาดในไทย ที่ร้อยละ 22 ถัดมาเป็น Xiaomi มีมาร์เก็ตแชร์ที่ร้อยละ 17 ส่วน OPPO มาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ร้อยละ 15 

ส่วน Apple อยู่อันดับ 4 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14 และอันดับ 5 Vivo มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 13 

บทวิจัยดังกล่าว ระบุด้วยว่า เวียดนาม ถือเป็นตลาดที่น่าจับตามองในปี 2025 นี้ เนื่องจากจะกลายเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์อย่างมาก จากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยมีปัจจัยด้านการเมือง โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการปรุบปรุง ความใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ ทำให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนระยะยาวในการผลิตสมาร์ตโฟน

และนอกเหนือจากข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจแล้ว การผลักดัน 5G ของเวียดนาม ยังเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ต่างๆ ในการขยายพอร์ตโฟลิโอ 5G และเข้าถึงกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต

ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ต่างก็เพิ่มบทบาทของตนในห่วงโซ่คุณค่าของสมาร์ตโฟน เช่นกัน โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซีย ระบบนิเวศแบตเตอรีของอินโดนีเซีย และโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย อาจช่วยปรับปรุงสถานะของภูมิภาคในห่วงโซ่คุณค่าของสมาร์ตโฟน เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา และรับมือกับความไม่แน่นอนทั่วโลกได้

ส่วนการที่ Xiaomi ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียนได้นั้น เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น และหนึ่งในกลยุทธ์การเติบโต ก็คือลดการพึ่งพาร้านค้าปลีกรายใหญ่ และมีเครือข่ายจัดจำหน่ายที่กระจายตัวมากกว่า ช่วยให้สามารถตอบสนองต่อสภาพตลาดได้ดี และยังเร่งตัวเปิด ซีรีส์ Note ในช่วงต้นปี ทำให้ยังรักษาปริมาณยอดขายที่เติบโตเอาไว้ได้

นอกจากศักยภาพด้านการตลาดแล้ว ล่าสุด เสียวหมี่ เตรียมปล่อยชิปมือถือขั้นสูง ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเอง ภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้

โดย รอยเตอร์ส รายงานว่า Lei Jun (เล่ย จุน) ซีอีโอของ เสียวหมี่ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผ่านบัญชี เว่ยป๋อ (Weibo) โดยยังไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ของแบรนด์ด้วยชิปประมวลผล ซึ่งออกแบบและพัฒนาโดยบริษัทฯ เอง 

ถือเป็นการยกระดับการแข่งขันไปอีกขั้นของ เสียวหมี่ ในการพัฒนาชิปมือถือของตนเอง ในสภาวะการแข่งขันของตลาดสมาร์ตโฟนในจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่วนคู่แข่งอย่าง Huawei (หัวเว่ย) และ Apple (แอปเปิล) ต่างก็่กำลังใช้ชิปที่บริษัทฯ ออกแบบเอง เพื่อสร้างระบบนิเวศในการทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์ 

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวเผยว่า ชิปมือถือของ เสียวหมี่ จะมีชื่อว่า เอ็กซ์ ริง โอวัน (XringO1) ได้รับการพัฒนาโดยหน่วยออกแบบชิปภายในของบริษัทฯ เอง โดยใช้สถาปัตยกรรม อาร์ม (ARM) และผลิตโดยบริษัท TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก

อย่างไรก็ตาม เสียวหมี่ ได้เริ่มออกแบบชิปของตัวเอง ตั้งแต่ปี ปี 2014 และเปิดตัวโปรเซสเซอร์มือถือตัวแรกไป ในปี 2017 แต่ต่อมา ในปี 2019 ได้เปลี่ยนทิศทางไปยังชิปที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าแทน เนื่องจากปัจจัยด้านเงินทุน 

แต่บริษัทฯ ก็กลับมาพัฒนาชิปมือถืออีกครั้งในปี 2021 โดย เสียวหมี่ ต้องการที่จะใช้ชิปมือถือในผลิตภัณฑ์กลุ่มพรีเมียม ซึ่งรวมถึงสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต 

ขณะที่ ภาพรวมของตลาดสมาร์ตโฟนทั่วโลก ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ก็ไม่สดใสนัก โดยเติบโตได้เพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 ด้วยตัวเลขการจัดส่งจำนวน 296 ล้าน 9 แสน เครื่อง 

Samsung มียอดจัดส่งสูงสุดที่จำนวน 60 ล้าน 5 แสนเครื่อง เนื่องจากการเปิดตัวรุ่นเรือธงใหม่ล่าสุด และผลิตภัณฑ์ ซีรีส์ เอ ใหม่ในราคาที่แข่งขันได้ โดยครองส่วนแบ่งตลาดโลกได้ ที่ร้อยละ 20 

ส่วน Apple มียอดขาย 55 ล้านเครื่อง มีส่วนแบ่งตลาดร้อย 19 ซึ่งยอดการจัดส่งที่เติบโตขึ้นนั้น ขับเคลื่อนโดยตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสหรัฐอเมริกา 

Xiaomi ครองอันดับ 3 มียอดจัดส่งจำนวน 41 ล้าน 8 แสนเครื่อง และมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 14 โดย เสียวหมี่ ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่และตลาดเกิดใหม่ในต่างประเทศ

ส่วน vivo และ OPPO ตามมาเป็นอันดับที่ 4 และ 5 โดยมียอดจัดส่ง 22 ล้าน 9 แสน เครื่องและ 22 ล้าน 7 แสนเครื่อง ตามลำดับ และมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกัน ที่ร้อยละ 8

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง