รีเซต

อินเดียประสบความสำเร็จส่งยาน Aditya-L1 ขึ้นสู่อวกาศมุ่งหน้าไปสำรวจดวงอาทิตย์

อินเดียประสบความสำเร็จส่งยาน Aditya-L1 ขึ้นสู่อวกาศมุ่งหน้าไปสำรวจดวงอาทิตย์
TNN ช่อง16
2 กันยายน 2566 ( 17:35 )
130

วันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา อินเดียประสบความสำเร็จส่งยานสำรวจอาทิตยา-แอล1 (Aditya-L1) ขึ้นสู่อวกาศ โดยใช้จรวด PSLV จากศูนย์อวกาศสาทิช ธาวัน (Satish Dhawan) บริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศอินเดีย ภายหลังจากจรวดขึ้นจากฐานปล่อยประมาณ 63 นาที ยานสำรวจสามารถเข้าสู่วงโคจรต่ำ (LEO) ได้สำเร็จ ท่ามกลางเสียงตบมือแสดงความยินดีของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมภารกิจและประชาชนชาวอินเดียที่รับชมการถ่ายทอดสดเป็นจำนวนมาก


ภายหลังจากยานสำรวจอาทิตยา-แอล1 (Aditya-L1) เข้าสู่วงโคจรต่ำ (LEO) ยานจะเร่งเครื่องยนต์เพื่อมุ่งหน้าไปยังตำแหน่งที่เรียกว่า จุดลากรองจ์พอยต์ 1 หรือ L1 บริเวณที่มีแรงโน้มถ่วงคงที่และมีระยะห่างจากโลกประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร


ยานสำรวจอาทิตยา-แอล1 (Aditya-L1) ชื่อของยานแปลว่า "ดวงอาทิตย์" ในภาษาสันสกฤต ยานถูกออกแบบให้มีน้ำหนัก 1.48 ตัน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบการสื่อสาร มีกำหนดการทำภารกิจสำรวจชั้นบรรยากาศชั้นนอกสุดหรือที่เรียกว่า โคโรนา ซึ่งคาดว่ามีอุณหภูมิสูงถึง 1 ล้านองศาเซลเซียส และศึกษาข้อมูลอื่น ๆ ของดวงอาทิตย์ เป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี 


นับเป็นความสำเร็จต่อเนื่องจากภารกิจจันทรยาน-3 ที่อินเดียนำยานอวกาศลงจอดบนบริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ รวมไปถึงการนำปรัชญาณ (Pragyaan) วิ่งสำรวจบนดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการประกาศความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศของอินเดียอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นชาติมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอวกาศชาติหนึ่งของโลก


การสำรวจดวงอาทิตย์มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจระบบสุริยะของพวกเรา ซึ่งดวงอาทิตย์มีอิทธิพลต่อดาวเคราะห์ทุกดวง รวมไปถึงโลกที่ได้รับพลังงานมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมีผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง เช่น การเกษตร การผลิตกระแสไฟฟ้า รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกหากมองในด้านของวิทยาศาสตร์ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์



ที่มาของข้อมูล Space

ที่มาของรูปภาพ ISRO

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง