รีเซต

หลักสูตรเอาตัวรอด ‘หนี ซ่อน สู้’ กับ 3 บทเรียนใหญ่ที่ผ่านมาของ ผบ.ตร.คนที่14

หลักสูตรเอาตัวรอด ‘หนี ซ่อน สู้’ กับ 3 บทเรียนใหญ่ที่ผ่านมาของ ผบ.ตร.คนที่14
TNN ช่อง16
5 ตุลาคม 2566 ( 09:38 )
91
หลักสูตรเอาตัวรอด ‘หนี ซ่อน สู้’ กับ 3 บทเรียนใหญ่ที่ผ่านมาของ ผบ.ตร.คนที่14

หลักสูตรเอาตัวรอด ‘หนี ซ่อน สู้’ กับ 3 บทเรียนใหญ่ที่ผ่านมาของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.คนที่14


จากเหตุการณ์เยาวชนชายวัย 14 ปีก่อเหตุยิงภายในศูนย์การค้า ย่านปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ความสูญเสียที่ไม่คาดคิด เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะกลางเมืองหลวง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีก 5 ราย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา


เหตุการณ์นี้ทำให้สังคมเกิดความตื่นตัว และ ค้นหาแนวทางตั้งรับเพื่อป้องกันเหตุอันไม่คาดคิดในอนาคต หนึ่งในแนวทางที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมากที่สุดคือหลักสูตรการเอาตัวรอดจากเหตุกราดยิง Active Shooter คือ หนี ซ่อน สู้ หรือ Run Hide Fight


ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้ผลักดันและพัฒนาการฝึกอบรมให้เป็นที่แพร่หลาย ทั้งในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และหน่วยงาน เพราะเล็งเห็นว่าสิ่งนี้ควรเป็นหลักสูตรพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้เพื่อเอาตัวรอดเบื้องต้น


เนื่องจากไม่มีใครหยั่งรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับสถิติการเกิดเหตุที่คนร้ายใช้อาวุธปืนตามที่สาธารณะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นกังวล ฉะนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จึงกล่าวไว้ว่า "การลดอาชญากรรมได้ดีที่สุดคือ การมีพี่น้องประชาชนเป็นแนวร่วมของตำรวจ"

แต่บทเรียน หนี ซ่อน สู้ นี้ไม่ได้พึ่งถูกพูดถึงหลังเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรก บทเรียนนี้เคยถูกหยิบยกมาตั้งเป็นโจทย์สำคัญให้กับสังคมตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ โศกนาฎกรรมที่ห้างเทอร์มินอล 21 กลางเมืองนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2563


เหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นเหตุกราดยิงครั้งที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากมียอดผู้เสียชีวิตสูงถึง 30 คน บาดเจ็บ 58 คน ความเลวร้ายที่เกิดขึ้น เริ่ม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยผู้ก่อเหตุ คือ จ.ส.อ. จักรพันธ์ ได้ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชาและญาติถึงแก่ความตาย จากนั้นหลบหนีเข้าไปในตัวเมือง และกราดยิงผู้คนตามรายทาง และเข้าไปซ่อนตัวหลบอยู่ในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จับบุคคลในห้างเป็นตัวประกัน และถ่ายทอดสดตนเองขณะก่อเหตุลงเฟซบุ๊ก จนท้ายที่สุดถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในเช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563


พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้เคยระบุไว้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นบทเรียนใหญ่ของสังคม และถึงเวลาที่จะต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์กราดยิงเอาตัวรอดด้วยการ หนีซ่อนสู้ 


เหตุกราดยิงเทอร์มินอล 21 นี้จึงนับเป็น จุดเริ่มต้นแรกของการพูดถึงหลักสูตรเอาชีวิตรอด หนีซ่อนสู้


จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2565 ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ช่วงเวลาประมาณ 12.30 น. ส.ต.อ. ปัญญา ผู้ก่อเหตุ ซึ่งเคยรับราชการอยู่ที่ สถานีตำรวจภูธรนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู ก่อนจะถูกไล่ออกจากราชการจากพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 


ได้เดินทางไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯพร้อมอาวุธปืนยาว ปืนลูกซอง ปืนสั้นขนาด 9 มม. และมีด เข้าไปทำร้ายเด็ก ๆ ขณะกำลังนอนหลับอยู่ ซึ่งนอกจากเด็กเล็ก 24 คนที่เสียชีวิตแล้ว ระหว่างเดินทางมาผู้ก่อเหตุได้ยิงพ่อลูกคู่หนึ่งเสียชีวิต และยิงครูที่พยายามปิดประตูไม่ให้ผู้ก่อเหตุเข้าไปในห้อง


โดยรวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 37 คนรวมผู้ก่อเหตุ และบาดเจ็บอย่างน้อย 10 คน


การสูญเสียในครั้งนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญและเป็นจุดย้ำเตือนความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดความรู้วิธีเอาชีวิตรอดของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ที่มองว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆขึ้น และมีผู้แจ้งไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 กว่าเจ้าหน้าที่จะไปถึงที่เกิดเหตุก็ถือว่านานเกินไป ฉะนั้นการให้องค์ความรู้ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะทำให้ทุกคนรอดชีวิตได้


ความเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์กราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่หลักสูตรเอาชีวิตรอด หนีซ่อนสู้ ถูกส่งต่อและฝึกฝนอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดในประเทศไทย


หลายโรงเรียนในต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานครมีการฝึกอย่างจริงจังเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ความเข้าใจใช้ในการดูแลตนเองและคนรอบข้างหากเกิดเหตุไม่คาดคิด


เช่น ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม) ได้จัดโครงการฝึกเอาชีวิตรอดและการบริหารเหตุการณ์วิกฤต กรณีมือปืนยิงกราด ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังเกิดเหตุการณ์ที่จังหวัดหนองบัวลำภูประมาณ 2 สัปดาห์

มีผู้รวมฝึกอบรมจำนวน 45 คน ได้แก่ ผู้แทนอาจารย์, บุคลากร และนักเรียน 


เนื้อหาสำคัญ ที่เป็นหัวใจหลักในการฝึกคือ ‘หนี ซ่อน สู้’ 


‘การหนี’ 

ต้องสังเกตทางเข้าออกว่ามีกี่ทิศทาง มีทางไหนสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนได้ หลีกเลี่ยงการหนีไปทางตัน กำแพง หรือเส้นทางที่ไม่สามารถไปต่อได้ ทิศทางการหนีต้องตรงข้ามกับเสียงปืน ส่วนกรณีที่ไม่ได้ยินเสียงปืนให้ไปทิศทางเดียวกับการวิ่งของกลุ่มคน การจดจำรูปพรรณสัณฐานคนร้าย เพศ ความสูง สีผิว การแต่งกาย จำนวนลักษณะอาวุธที่ใช้ จำนวนคนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และสุดท้ายเมื่ออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้วให้โทรแจ้ง 191 ทันที


‘การซ่อน’ 

เมื่อไม่สามารถหนีหรือหนีไม่ทันและไม่แน่ใจว่าคนร้ายอยู่จุดไหนจะต้องซ่อนทันที โดยเลือกห้องที่มีความแข็งแรง เข้าไปแล้วปิดล็อกประตูหาสิ่งของมาค้ำยันเพื่อไม่ให้ดันจากภายนอกได้ แจ้งตำแหน่งตัวเองกับผู้ใกล้ชิดห้ามแจ้งต่อตำแหน่งตัวเองลงสื่อโซเชียล เพราะคนร้ายอาจจะเข้าถึงข้อมูลได้ ปิดเสียงปิดสั่นลดแสงโทรศัพท์ สังเกตที่ประตูและหาสิ่งของเพื่อเตรียมใช้เป็นอาวุธมาไว้ใกล้เผื่อต้องสู้ ที่สำคัญพยามปลอบขวัญดึงสติกับเพื่อนร่วมห้องและสื่อสารวางแผนหากต้องสู้ 


‘การสู้’ 

เมื่อไม่สามารถหนีไปที่อื่นได้แล้วคนร้ายบุกเข้ามาที่ซ่อนทุกคนต้องร่วมใจกันสู้ไม่เฉพาะสู้คนใดคนหนึ่งแต่ต้องสู้ทุกคน โดยมีข้อควรระวังการสู้เป็นกรณีที่คนร้ายบุกเข้ามาหาที่ซ่อน ไม่ใช่การออกไปสู้กับคนร้าย กรณีคนร้ายยังไม่พบเจอเรา โดยสู้จากทุกสิ่งที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้เช่นถังดับเพลิง น้ำยาล้างห้องน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ปากกา ดินสอ แม้จะมือเปล่าสู้จนกว่าคนร้ายจะหยุดหรือไม่สามารถจะทำอันตรายต่อเราได้แล้ว 


เมื่อเราย้อนกลับมาที่ปัจจุบันภายหลังเกิดเหตุยิงที่ศูนย์การค้ากลางเมือง มีการรายงานข่าวประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มีเด็กนักเรียนชายคนหนึ่งได้นำความรู้จากการอบรมวิธีเอาตัวรอดหนีซ่อนสู้ มาใช้ในสถานการณ์จริงและได้แนะนำให้ผู้ปกครองที่อยู่ด้วยกับตนเองในขณะนั้นใช้วิธีดังกล่าวจนสามารถออกจากพื้นที่เกิดเหตุได้อย่างปลอดภัยในที่สุด


เหตุการณ์ครั้งนี้จึงนับเป็นเหตุการณ์แรกที่ประชาชนและทุกภาคส่วนให้ความสำคัญตรงกันถึงวิธีการเอาตัวรอด หนีซ่อนสู้


เราจะเห็นว่า ในหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่สังคมมักจะทำคือการถอดบทเรียนการวางแผนเพื่อป้องกันเหตุ การพูดคุยถึงต้นตอปัญหาที่เป็นระดับโครงสร้างของสังคม แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมไม่ควรละเลยที่จะพูดถึงและรณรงค์ให้เป็นเรื่องปกติคือการที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ยึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตนก่อนจะพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนอื่น


หลักสูตรหนีซ่อนสู้เป็นอีกหนึ่งวิธีเอาตัวรอดที่สามารถใช้งานได้จริงแต่อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือสติของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่จะต้องตั้งมั่นประคับประคองตัวเองให้อยู่และยึดความปลอดภัยของตัวเองเป็นที่ตั้ง


ภาพ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง