โควิดรอบ 3 เศรษฐกิจรายจังหวัดสูญ 5 พันล้านต่อวัน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการเกิดคลัสเตอร์ทองหล่อ และตัวเลขพบเชื่อโควิด-19 ต่อวันสูงขึ้นมาอีกครั้ง ได้กระทบต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชนและภาคประชาชน รวมถึงความกังวลเพิ่มต่อการใช้จ่ายและการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายหายไป 5-10 % ต่อวันในช่วงสงกรานต์นี้ เพราะการไม่เดินทางออกนอกบ้าน งดกิจกรรม และยกเลิกแผนเดินทาง เฉลี่ย 2-5 พันล้านบาทต่อวันต่อขนาดของจังหวัด หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังมีตัวเลขสูงและคนระมัดระวังใช้จ่ายทุก 1 เดือนจะเสียหาย 3-5 หมื่นล้านบาท/เดือน หากดูสถิติย้อนหลังเมื่อเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่กว่าจะใช้เวลาควบคุมและความเชื่อมั่นใช้จ่ายเกิดอีกครั้งก็ประมาณ 1-2 เดือน เท่ากับเงินใช้จ่ายต่างๆจะหายไปจากระบบ 6 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.3-0.5%
“เดิมประเมินว่าสถานการณ์ไวรัสจะคลี่คลาย ประชาชนมีการฉีดวัคซีน เริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามแซนบ็อกซ์ก่อนใน 6 จังหวัด และกิจกรรมส่วนใหญ่เข้าภาวะปกติตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 ก็จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศตั้งแต่ไตรมาส 3 และทำให้เศรษฐกิจทั้งปีบวกได้ 2.5-3.0% แต่หากสถานการณ์โควิดยังระบาดเป็นวงกว้าง จนถึงล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ แต่เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ และการชุมนุมการเมืองยังต่อเนื่อง กระทบต่อความมั่นใจต่อการฟื้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายเท่าเดิม เศรษฐกิจปีนี้อาจโตต่ำแค่ 2.0-2.5% เท่านั้น ดังนั้น ตัวแปรสำคัญตอนนี้คือ ต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดอย่าไม่เกิน 500 คน/วัน ระมัดระวังสงกรานต์อย่าเกิดการติดเชื้อลุกลาม การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไม่เลื่อน และเร่งการฉีดวัคซีน ที่สำคัญเชื่อว่ารัฐจะเร่งออกมาตรการลดค่าครองชีพเร็วขึ้นเป็นปลายเดือนเมษายน ทั้งเราชนะ คนละครึ่ง ที่จะช่วยเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจรวม 2-2.5 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาส 2 ที่จะช่วยพยุงจีดีพีไตรมาส2 ไม่ติดลบมาก จากเดิมคาดว่าจะบวก 1-2%” นายธนวรรธน์ กล่าว