ส่องทิศ GDP ไทย 2568 เสี่ยงต่ำสุดในอาเซียน นายกฯกางแผนพลิกฟื้น

ภาษีทรัมป์ แผ่นดินไหว และอีกหลายปัจจัยเสี่ยง
ทำให้การเติบทางเศรษฐกิจ ของ "ประเทศไทย" ปีนี้ ไม่เหมือนที่คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า
หลายหน่วยงานพากันปรับลดหรือหั่นเป้า "GDP" อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง
ที่น่าตกใจคือ บางหน่วยงานระดับโลก มองว่าไทยจะเป็นประเทศที่โตต่ำสุดในภูมิภาคด้วย
วันนี้ TNN WEALTH จึงรวบรวบข้อมูลมุมมองของหน่วยงานต่างๆ ที่สำคัญๆ มาไล่เรียงความเป็นไปได้
พร้อมด้วยตัวเลขสถิติ GDP ไทย ย้อนหลัง 10 ปี
คลัง หั่นเหลือ 2.1 % จากเดิม 3.0 %
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.6 – 2.6%) สาเหตุหลักมาจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 1.8 -2.8%) ซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม การประกาศเลื่อนการบังคับใช้นโยบาย Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน นับจากวันที่ 9 เมษายน 2568 และกรณียกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ได้บรรเทาผลกระทบของการส่งออกของไทยลงบางส่วน
คลังมองบวกหากสหรัฐฯผ่อนปรนภาษี หนุน GDP โตเพิ่มเป็น 2.5%
นายพรชัย เปิดเผยว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ มีการผ่อนปรนด้านนโยบายภาษีกับประเทศไทยและประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ ในกรณีสูง (High Case) มีสมมติฐานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีการปรับลดภาษีนำเข้าของไทยและประเทศอื่น ๆ ซึ่งลดลงอยู่ที่อัตรา 10% จะส่งผลบวกให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานเป็น 2.5% (อยู่ในช่วงประมาณ 2.0 – 3.0%) โดยแรงส่งหลักมาจากการส่งออกที่ขยายตัวมากขึ้น และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตามการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น
ธนาคารโลก หั่น GDP ไทยเหลือแค่ 1.6 % ต่ำสุดในภูมิภาค
ธนาคารโลก ( World Bank ) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ฉบับเดือนเมษายน 2025 ปรับลดประมาณการ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ปี 2568 เหลือเพียง 1.6% หรือลดลงมากถึง 1.3 จุดเปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่อยู่ที่ 2.9% ส่วนในปีหน้า 2569 ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยลงมาเหลือ 1.8% ลดลง 0.9 จุดเปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ 2.7%
การปรับลดประมาณการจีดีพีของไทยในครั้งนี้นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ"อาเซียน" (ไม่รวมสิงคโปร์ บรูไน และเมียนมาเกิดสงครามกลางเมืองภายใน และแผ่นดินไหวรุนแรง)
IMF หั่น GDP ไทย อยู่ที่ 1.8 % จากเดิม 2.9 %
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หั่นประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือ 2.8% จาก 3.3% จากผลกระทบของภาษีทรัมป์ที่มีเศรษฐกิจแทบทุกประเทศ
พร้อมกันนี้ยังได้ปรับลด GDP ไทยปีนี้ลงเหลือเพียงแค่ 1.8% จากเดิมที่ 2.9% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นับเป็นการปรับลดลงถึง 1.1%
ส่งผลให้ไทยเสี่ยงเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียในปีนี้ ส่วนประมาณการเติบโตของ GDP ไทยปี 2026 คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 1.6% เท่านั้น
ทั้งนี้ ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลทางการค้ามากที่สุด เนื่องจากไทยเป็นอันดับที่ 10 ที่สหรัฐฯ ขาดดุลด้วยอยู่ที่ -45,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 3.8% ของการขาดดุลในปี 2024
GDP ไทยย้อนหลังสถิติยังน่าห่วง
ขณะเดียวกันเมื่อมองกลับไปย้อนหลังในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา
ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกับที่ธนาคารโลกคาดการณ์ที่ 1.6 % ในปี 2564 ซึ่งโตหลังจากติดลบอย่างหนักในปี 2563 คือ -6.2 %
ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19
ส่วนปีที่ผ่านมา 2567 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP อยู่ที่ 2.5 % เป็นการเติบโตอันดับเกือบรั้งท้ายในอาเซียน เหลือแค่เมียนมาเท่านั้น
นายกฯกางแผนพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผลักดัน GDP
น.ส.แพทอง นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : Mission Thailand” ว่า โลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่อยากให้ประชาชนมั่นใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งไทยและรอบโลก รัฐบาลรับรู้การเปลี่ยนแปลงและรับรู้ถึงปัญหาอุปสรรค และไม่พลาดที่จะมองเรื่องโอกาส แนวทางการแก้ไขปัญหา และการรับมือต่าง ๆ
พร้อมกล่าวถึงประเด็น GDP ของไทย ระบุว่า ปี 2567 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า GDP ทั้งปีอยู่ที่ 2.5% แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายตัวเลขขยับขึ้นเป็น 3.2% แสดงให้เห็นว่าการเร่งเครื่องทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดผลต่อไป แม้ว่าจะมีอุปสรรคผ่านเข้ามาทั้งแผ่นดินไหว และกำแพงภาษี แต่รัฐบาลก็พยายามหาทางออกและพูดคุยกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนเพื่อหาคำตอบที่เป็นประโยชน์จริง ๆ เพราะตนเชื่อเสมอว่า ภาครัฐหลายส่วนหลายมุมเราไม่รู้วิธีทำแต่เราสามารถเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนได้ เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกันกับภาครัฐ อย่างเรื่องกำแพงภาษี เอกชนที่ลงทุนในสหรัฐมีอะไรบ้าง แล้วรัฐสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เราคงจะต้องสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้ต่อไป เพราะที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้มีนโยบายโดยตรงเพื่อที่จะช่วยให้นักลงทุนคนไทยไปลงทุนต่างประเทศ จึงอยากมุ่งเน้นเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อให้เอกชนนั้นเกิดความมั่นใจและเกิดศักยภาพที่ดีขึ้น
พร้อมให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลมีแผนรองรับเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อผลักดัน GDP ประเทศไทยให้สูงขึ้น และการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย สร้างโอกาสและการหากิน ถือเป็นการต่อลมหายใจให้ธุรกิจรายเล็กสามารถดำรงอยู่ต่อได้ เร่งส่งเสริมและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ต้องการเชื่อมโยงประเทศไทยกับโลกเข้าหากัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะสามารถต่อยอดให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี หรือ ดิจิทัล ดึงดูดการลงทุนในการสร้าง Data Center และ Cloud Service ที่รัฐบาลลงทุนถึง 2.4 แสนล้านบาท เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้เข้ามาเกิดการจ้างงานใหม่ ๆ และทักษะใหม่ ๆ ให้กับคนไทย สนับสนุนด้านการค้า การลงทุน และภาคการผลิต ทั้งเรื่องการเกษตร, อาหาร หรือการบริการ ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง