รีเซต

หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วย 81 ปี หลอดลมอักเสบจากเชื้อ RSV ทำโรคหอบกำเริบ

หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วย 81 ปี หลอดลมอักเสบจากเชื้อ RSV ทำโรคหอบกำเริบ
TNN ช่อง16
29 กรกฎาคม 2567 ( 09:33 )
19
หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วย 81 ปี หลอดลมอักเสบจากเชื้อ RSV ทำโรคหอบกำเริบ

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ โรค RSV


โดยระบุว่า  ผู้ป่วยหญิงอายุ 81 ปี ไอมาก เสมหะสีขาว 2 วัน ไอทั้งกลางวัน กลางคืน หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ไม่มีไข้ ไม่มีน้ำมูก ไม่เจ็บคอ ไม่สูบบุหรี่ เคยเป็นโรคหอบหืดเมื่อ 20 ปีก่อน หายนานแล้ว เป็นโรคความดัน ไขมัน คงติดเชื้อจากลูกชายอายุ 56 ปี เพราะมีอาการก่อนหน้านี้คล้ายกันมาก มาเข้ารพ.วันที่ 22 กค. 2567 ตรวจร่างกาย ไม่มีไข้ ฟังปอดมีเสียงวี๊ดทั้ง 2 ข้าง เอกซเรย์ปอดปกติ แยงจมูกส่งตรวจหาไวรัส พบเชื้อไวรัส RSV


วินิจฉัย: หลอดลมอักเสบจากติดเชื้อไวรัส RSV ทำให้โรคหอบหืดซึ่งหายมานานแล้วกลับมากำเริบใหม่


ทั้งนี้ ไม่มียาต้านไวรัสรักษา RSV ให้การรักษาตามอาการ ให้ยาพ่นขยายหลอดลม ยาสเตียรอยด์ขนาดต่ำเพื่อลดการอักเสบ ยา singulair อาการดีขึ้น นอนรักษาในโรงพยาบาล 3 วัน ให้กลับบ้านได้

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูระบาดของเชื้อ RSV คือ เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปถึงเดือนพฤศจิกายน เรากำลังจะเห็นโรค RSV เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 


ปีนี้เป็นปีแรกที่วัคซีนป้องกัน  RSV เข้าประเทศไทย ผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไปทุกคนที่สามารถจ่ายเงินเองได้ ควรรับวัคซีน RSV 1 เข็ม สำหรับคนอายุ 60 -74 ปี ให้ฉีดเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไตเรื้อรัง โรคอ้วน โรคภูมิคุ้มกันต่ำ



รู้จักไวรัส RSV


ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

การติดต่อของ RSV


การติดต่อของเชื้อ RSV 


สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2 – 4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้นส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมาก ๆ 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่ต้องพึงระวัง คือ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว เพราะผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง


ที่มา หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC / โรงพยาบาลกรุงเทพ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง