รีเซต

จ่อหยุดส่งออก! ‘ประภัตร’ เล็งหารือพาณิชย์แก้ลำหมูแพง - วอนรายใหญ่ผลิตหมูขุนให้เกษตรกรเลี้ยง

จ่อหยุดส่งออก! ‘ประภัตร’ เล็งหารือพาณิชย์แก้ลำหมูแพง - วอนรายใหญ่ผลิตหมูขุนให้เกษตรกรเลี้ยง
ข่าวสด
5 มกราคม 2565 ( 15:45 )
41

จ่อหยุดส่งออกหมู - นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ตัวแทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูในประเทศปรับสูงขึ้น ว่า ที่ผ่านมาไทยผลิตหมูได้ประมาณ 20 ล้านตัว/ปี ซึ่งเพียงพอกับการบริโภค แต่ปี 2563-64 ประเทศเพื่อนบ้าน เกิดโรคระบาดในสุกร โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ)

 

ดังนั้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหมูของไทย จึงต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคเอเอสเอฟ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง

 

ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคในสุกรปรับสูงขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงปรับแผนลดการผลิตสุกรขุนลง ส่งผลให้ปริมาณสุกรในประเทศลดลง แต่เพื่อนบ้านที่มีการระบาดของ เอเอสเอฟ มีความต้องการหมูไทยมากขึ้น ส่งผลให้ราคาในประเทศปรับสูงขึ้น

โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงราคาเนื้อสุกรภายในประเทศ จึงสั่งการมายังกระทรวงเกษตรฯ ให้เร่งติดตามและแก้ไขปัญหาดังกล่าวฯ อย่างเร่งด่วนทั้งในระยะสั้น เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน และในระยะกลาง-ยาว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการที่เลี้ยงสุกรทุกขนาด ให้กลับมาประกอบอาชีพ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ในครัวเรือน และสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ

 

“ในฐานะผมเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ เร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะหยุดการส่งออกสุกรในทันที เพื่อให้มีปริมาณสุกรอยู่ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ และกรมปศุสัตว์ต้องเร่งเตรียมการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีความเสี่ยงจากโรคระบาด เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ในการผลักดัน ปศุสัตว์ แซนบ็อกซ์ หรือเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ ส่งเสริมการนำเข้า การผลิต-ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ตามโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยด่วน”

 

นายประภัตร กล่าวว่า สำหรับมาตรการในระยะกลาง-ยาว กรมปศุสัตว์จะเริ่มส่งเสริมเกษตรกรรายเล็ก และรายย่อยเดิม ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่ม เพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเลี้ยง โดยจะใช้เงินทุนจากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้ โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ โดยคาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนหมูขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมหารือมาตรการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอาหารสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ประเทศไทยมีความต้องการใช้ถึงปีละ 8 ล้านตัน แต่มีกำลังการผลิตเพียง 4 ล้านตัน/ต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง