รีเซต

ราชกิจจาฯคลายล็อก ผ่อนปรนมาตรการโควิด

ราชกิจจาฯคลายล็อก ผ่อนปรนมาตรการโควิด
มติชน
30 สิงหาคม 2564 ( 10:10 )
48
ราชกิจจาฯคลายล็อก ผ่อนปรนมาตรการโควิด

 

หมายเหตุ – เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 32) ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงดึกวันที่ 28 สิงหาคม 2564


ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 13 จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2564 นั้น

 

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันฝ่ายสาธารณสุขได้ประเมินว่าค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แม้จำนวนของผู้ป่วยอาการรุนแรงจะยังคงมีระดับสูงอันเป็นผลจากการสะสมของผู้ติดเชื้อในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ที่ได้รับการรักษาพยาบาลจนหายป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งผลดังกล่าวเกิดจากการบูรณาการและประสานความร่วมมือของฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง อาสาสมัครและประชาชนทุกภาคส่วนในการระดมสรรพกำลังเพื่อให้ความช่วยเหลือและป้องกันโรคแก่ประชาชน ทั้งมีการเร่งฉีดวัคซีนแก่กลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการติดโรค การตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก การให้คำแนะนำและติดตามผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาพยาบาล พนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงได้มีการประเมินผลและความเหมาะสมของการบังคับใช้บรรดามาตรการตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้าเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เพื่อพิจารณาปรับปรุงการบังคับใช้ในบางมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของ ศบค.ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 การกำหนดพื้นที่สถานการณ์จำแนกตามเขตพื้นที่จังหวัด ให้การกำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ จำแนกเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564 ยังคงบังคับใช้ต่อไป

 

ข้อ 2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ข้อห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ขั้นตอนการขออนุญาตจัดกิจกรรม การพิจารณาอนุญาต รวมทั้งกิจกรรม หรือการรวมกลุ่มที่ได้รับยกเว้นที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามข้อ 1 และข้อ 5 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564 ยังคงบังคับใช้ต่อไป โดยปรับมาตรการเฉพาะในเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม ดังนี้

 

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบห้าคน

(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน

(3) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยคน

(4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคน

(5) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าร้อยคน

 

ข้อ 3 มาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจะบังคับใช้ในอนาคต ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการภาครัฐและแผนการเกี่ยวกับการจัดหาและจัดสรรวัคซีน ยา เครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลสนาม สถานพยาบาล และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งส่วนบุคคล องค์กร ผู้ประกอบการแต่ละประเภทรับทราบและแนะนำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตน โดยเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตาม “มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล” (Universal Prevention for COVID-19) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สำหรับการจะบังคับใช้ในอนาคต ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบขององค์กรหรือหน่วยงานตรวจสอบและกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตาม “มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร” (Covid free setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคของสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่ได้อนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจะบังคับใช้ในอนาคตในการเปิดสถานที่ และการดำเนินกิจการและกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยให้มีการประเมินผลภายในหนึ่งเดือน

 

ข้อ 4 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ได้แก่ การห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น การปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ให้ดำเนินการเต็มความสามารถที่จะทำได้ รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กำหนดขึ้นเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องไปสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วัน (จนถึงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2564)

 

ข้อ 5 การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณีกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้ปรับมาตรการตามข้อกำหนดนี้เพื่อให้เปิดดำเนินการได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดรวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

 

(1) โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความจำเป็นและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

(2) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการได้โดยให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 20.00 นาฬิกา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านและจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน หากเป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศให้มีจำนวนไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ แต่หากเป็นการบริโภคในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีจำนวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนที่นั่งปกติ และให้ใช้บังคับมาตรการนี้กับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย

(3) สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้เปิดดำเนินการได้

(4) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้เปิดให้บริการได้เฉพาะการให้บริการนวดเท้า

(5) ตลาดนัด ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติจนถึง 20.00 นาฬิกา เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคหรือบริโภค

(6) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันสามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา เว้นแต่กิจการหรือกิจกรรมบางประเภทที่กำหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือให้ปิดการดำเนินการไว้ก่อน

ก.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้ผ่านการนัดหมาย ส่วนร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้เปิดดำเนินการได้ โดยผ่านการนัดหมายและจำกัดเวลาการให้บริการในร้านไม่เกินรายละหนึ่งชั่วโมง

ข.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้เปิดดำเนินการได้โดยผ่านการนัดหมายและจำกัดเฉพาะการให้บริการนวดเท้า

ค.สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สวนสนุก สวนน้ำ สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุม ยังคงให้ปิดการดำเนินการไว้ก่อน

(7) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ หรือสระว่ายน้ำสาธารณะ หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ที่เป็นพื้นที่โล่ง สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่เกินเวลา 20.00 นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนามโดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี สามารถพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การใช้สถานที่เป็นการเฉพาะเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ ได้

(8) ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่ที่รับผิดชอบแล้วแต่กรณี เพื่อเข้าใช้สนามกีฬาทุกประเภทเพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติได้ โดยไม่มีผู้ชมในสนาม แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ข้อ 6 การใช้เส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางข้ามจังหวัดจากเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การเดินทางข้ามเขตจังหวัดและการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่นสามารถกระทำได้ แต่ขอความร่วมมือให้ประชาชนเดินทางต่อเมื่อกรณีมีเหตุจำเป็นเท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพร่โรค และหากเป็นการเดินทางของผู้ติดเชื้อหรือผู้มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ ให้เดินทางผ่านมาตรการหรือรูปแบบการเดินทางที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะเท่านั้นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่คงมีอำนาจตรวจตราความเรียบร้อยและการตรวจคัดกรองเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค โดยเป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กำหนด

ข้อ 7 การขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดทุกประเภททั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก.ศบค.กำหนด โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 75 ของความจุผู้โดยสารสำหรับยานพาหนะแต่ละประเภท รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่าง การมีระบบระบายอากาศที่ดี การแวะพักตามช่วงเวลา รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้พิจาณาตามความเหมาะสมของยานพาหนะและสภาพการเดินทาง นอกจากนี้ ให้จัดบริการขนส่งสาธารณะที่เพียงพอตามความจำเป็นและตามเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางของประชาชนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอำนวยความสะดวกเพื่อการขนส่งประชาชนเข้ารับวัคซีนและบริการทางการแพทย์

ข้อ 8 ในกรณีที่ ศปก.ศบค.ได้ประเมินสถานการณ์ตามข้อกำหนดนี้แล้วเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนหรือขยายความมาตรการในเรื่องใดเพื่อให้เกิดความชัดเจน เหมาะสม สะดวกแก่การปฏิบัติทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการได้

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2564
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

 

นอกจากนี้ วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษายังได้เผยแพร่คำสั่ง ศบค.ฉบับที่ 12/2564 เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 13) เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการในสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

รวมถึงเผยแพร่ประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 14/2564 เรื่อง การจัดโครงสร้างของ ศบค.เพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) เพื่อตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม” โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าศูนย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง