รีเซต

งานวิจัยเผยความลับที่มา "ดาวเคราะห์น้อยชิกชูลุบ (Chicxulub)" ต้นเหตุไดโนเสาร์สูญพันธ์ุ

งานวิจัยเผยความลับที่มา "ดาวเคราะห์น้อยชิกชูลุบ (Chicxulub)" ต้นเหตุไดโนเสาร์สูญพันธ์ุ
TNN ช่อง16
19 สิงหาคม 2567 ( 14:29 )
13
งานวิจัยเผยความลับที่มา "ดาวเคราะห์น้อยชิกชูลุบ (Chicxulub)" ต้นเหตุไดโนเสาร์สูญพันธ์ุ

ทีมนักวิจัยในเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกบริเวณ หลุมอุกกาบาตชิกชูลุบ (Chicxulub) ซึ่งทำลายไดโนเสาร์จนสูญพันธุ์เมื่อ 66 ล้านปีก่อน ในระหว่างยุคครีเทเชียสและยุคพาลีโอจีน อาจเกิดขึ้นจากการพุ่งชนกันเองของดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอนในบริเวณระบบสุริยะชั้นนอกไกลออกจากตำแหน่งของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นเหตุการร์ที่พบได้ยาก การค้นพบดังกล่าวช่วยระบุถึงลักษณะของหินจากอวกาศที่อาจพุ่งชนโลกในอนาคต และอาจเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย


ดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อนถูกตั้งชื่อว่า ดาวเคราะห์น้อยชิกชูลุบ (Chicxulub) การชนเกิดขึ้นบริเวณคาบสมุทรยูกาตัน ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน โดยมันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-15 กิโลเมตร สร้างหลุมจากการชนเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง 180-200 กิโลเมตร ความลึก 20 กิโลเมตร ซึ่งพลังทำลายล้างระดับนี้มากจนทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ล้างพันธุ์ไดโนเสาร์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลก


ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนว่าการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยชิกชูลุบ (Chicxulub) เมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อนเกิดขึ้นจริง และมีชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยกระจายไปในบริเวณกว้าง โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบชิ้นส่วนดาวเคราะห์น้อยที่มีองค์ประกอบทางเคมีของธาตุหายากที่เรียกว่า รูทีเนียม (Ruthenium) ในทวีปยุโรป ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับองค์ประกอบทางเคมีของดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอนในบริเวณระบบสุริยะชั้นนอก 


โดยการทดสอบนักวิจัยใช้เทคนิคการทำลายพันธะเคมีทุกพันธะที่ยึดแน่นกับตัวอย่างหินดาวเคราะห์น้อยที่ปิดไว้สนิท เพื่อวัดระดับไฮโซโทปเฉพาะตัวของธาตุรูทีเนียม (Ruthenium) นักวิจัยพบว่ามันมีความเสถียรอย่างน่าทึ่งเป็นเวลานานหลายพันล้านปี แม้ต้องเผชิญกับกิจกรรมทางธรณีวิทยาที่หมุนเวียนเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศบ่อยครั้งบนโลก 


หลังจากได้ค่าตัวเลขระดับไฮโซโทปที่มีความเสถียรดังกล่าวของธาตุรูทีเนียม ทีมนักวิจัยได้นำข้อมูลไปเรียบเทียบกับตัวอย่างชิ้นส่วนดาวเคราะห์น้อยอื่น ๆ ที่เคยถูกค้นพบบนโลก เช่น บริเวณประเทศแอฟริกาใต้ แคนาดา และรัสเซีย เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง และพบว่าดาวเคราะห์น้อยชิกชูลุบ (Chicxulub) เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอนในบริเวณระบบสุริยะชั้นนอก


หลักฐานดังกล่าว ทีมนักวิจัยยกให้เป็นลายนิ้วมือทางพันธุกรรม (Genetic Fingerprint) โดยมาริโอ ฟิชเชอร์-เกิดเด (Mario Fischer-Gödde) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันธรณีวิทยา และแร่วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคโลญ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาวิจัยครั้งใหม่นี้ ได้เปิดเผยเพิ่มเติมกับสื่อออนไลน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Live Science) ว่าดาวเคราะห์น้อยชิกชูลุบ (Chicxulub) อาจจะถูกผลักเข้าหาโลกโดยการชนกับหินในอวกาศอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดี 


ทีมวิจัยได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาดังกล่าวในวารสารวิทยาศาสตร์ Science เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา 


ที่มาของข้อมูล Space.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง