คนว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบ 11 ปี เซ่นพิษโควิด-19
ตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อแรงงานไทย แม้การควบคุมการระบาดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขคนตกงานยังคงสูงที่สุดในรอบ 11 ปี และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวถึง 2.5 ล้านคน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
สำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) สำรวจการว่างงานของคนไทยออกมาต่ำ ท่ามกลางวิกฤตโควิด–19 แต่พบ “ผู้เสมือนว่างงาน” หรือคนที่ทำงานน้อยกว่าวันละ 4 ชั่วโมงสูงขึ้นมาก โดยไตรมาส 2 ปี 2563 สูงสุดถึง 5.41 ล้านคน และไตรมาส 4 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.35 ล้านคน
ผู้ว่างงาน VS ผู้เสมือนว่างงาน
ผู้ว่างงาน
• บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป
• ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ แต่ได้หางาน สมัครงานหรือรอการบรรจุในระหว่าง 30 วัน ก่อนวันสัมภาษณ์
• ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ แต่พร้อมที่จะทำงาน
ผู้เสมือนว่างงาน
หมายถึง ผู้ที่ทำงาน น้อยกว่า 4 ชั่วโมง/วัน โดยอัตราการว่างงานหมายถึง ร้อยละของจำนวนผู้ว่างงานต่อจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำรวจแรงงาน ของปี 2563
- ไตรมาส 1 พบผู้ว่างงาน 395,000 คน หรือ 1% มีผู้เสมือนว่างงาน 4.25 ล้านคน
- ไตรมาส 2 พบผู้ว่างงาน 745,000 คน หรือ 2% มีผู้เสมือนว่างงานถึง 5.41 ล้านคน
- ไตรมาส 3 พบผู้ว่างงาน 738,000 คน หรือ 1.9% มีผู้เสมือนว่างงาน 2.68 ล้านคน
- ไตรมาส 4 พบผู้ว่างงาน 727,000 คน หรือ 1.9% มีผู้เสมือนว่างงาน 2.35 ล้านคน
และปีนี้ สสช.จะสำรวจภาวะการทำงานของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ที่ถือเป็นภาคที่ได้รับ
ผลกระทบจากโควิด-19 เป็นการเฉพาะด้วย
4 สัญญาณความอ่อนแอในตลาดแรงงานไทย
1. อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น
2.กลุ่มแรงงานอายุน้อย (15-24 ปี) ยังมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง
3. จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวยังสูงกว่าในอดีตมาก
4. สัดส่วนการทำงานต่ำระดับยังคงเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานในปีนี้ ได้แก่
1.ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
หากมีการระบาดระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดรอบแรก ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะมีรายได้ลดลงจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้
2.ภัยแล้งจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่มี ปริมาณลดลง
3.การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล.
ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีความสุข
ผลการสำรวจความสุขของคนทั่วโลก ในปี 2563 ของคนไทยถือว่าเป็นปีที่มีความสุขน้อยกว่าหลายประเทศในเอเชีย สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงสุดใน 12 ปี และปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ
โดยธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยเข้าสู่เกณฑ์ “ยากจน” เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน ในปี 2563 รวมกับคนจนที่มีอยู่แล้ว 3.7 ล้านคน เป็น 5.2 ล้านคน
“คนยากจน” ตามเกณฑ์ของธนาคารโลก ได้แก่ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 165 บาท หรือประมาณเกือบเดือนละ 5,000 บาท ถือว่าเป็นเส้นแบ่งความยากจน ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และได้รับเงินจากรัฐเดือนละ 260 หรือ 300 บาท มีประมาณ 14.5 ล้านบาท จึงไม่ใช่คนจนทั้งหมด ตามคำจำกัดความธนาคารโลก
วิกฤติเด็กจบใหม่ยุคโควิด
กรมการจัดหางาน ประมาณการว่า ปี 2563-2564 จะมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานราว 259,878 ราย ปี 2564-2565 จะมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน 283,432 ราย รวม 2 ปี กว่า 5.4 แสนคน และไม่มีประสบการณ์ทำงาน และการว่างงาน ทำให้เกิดการขาดช่วงสร้างทักษะทำให้เสียเปรียบมากเป็นพิเศษในการแข่งขันหางานกับกลุ่มแรงงานที่มีประสบการณ์การทำงานที่มากกว่า
ธุรกิจท่องเที่ยวไม่มีที่ยืน
ปัจจุบัน แรงงานภาคธุรกิจท่องเที่ยวถูกเลิกจ้างไปแล้วกว่า 50% ของทั้งอุตสาหกรรม หรือ 2-3 ล้านคน เนื่องจากธุรกิจยังปิดกิจการชั่วคราวจำนวนมาก ขณะที่ข้อมูลโรงแรม 4-5 ดาว พบว่าในจำนวนนี้ถูกเลิกจ้างจากโควิดรอบแรกแล้วกว่า 300,000 แสนคน หากภาครัฐไม่เข้ามาช่วยพยุงการจ้างงานแบบ copayment ในสัดส่วน 50% โควิดระลอกใหม่จะทำให้แรงงานภาคธุรกิจโรงแรมถูกเลิกจ้างอีกไม่ต่ำกว่า 400,000 คน
แนวโน้มสิ้นปีตกงานเพิ่ม
จากเว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ” ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลจัดทำเพื่อช่วยแรงงาน ณ วันที่ 26 มีนาคม 2564 มีอัตรางานที่เปิดรับ 617,889 ตำแหน่ง ขณะที่มีจำนวนการสมัครงาน 134,888 ครั้ง โดยเป็นการจ้างงานทั้งในส่วนภาครัฐและบริษัทเอกชน
ปีนี้นอกจากจะมีกลุ่มบัณฑิตจบใหม่เข้ามาสมทบแล้ว ยังมีกลุ่มว่างงานเดิมอยู่อีก ทำให้ช่วงปลายปี 2564 จะมีกลุ่มผู้ว่างงานมากขึ้น เนื่องจากการจ้างงานตามนโยบายของรัฐบาลให้มีการจ้างงานตามโครงการไทยมีงานทำ ส่วนใหญ่จ้างงานชั่วคราว 1 ปีเท่านั้น เมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีอีกจำนวนมากที่กลายเป็นผู้ว่างงาน
ไม่อยากเป็นคนว่างงานต้องทำยังไง
1.อย่ากลัวที่จะหางาน
2.เตรียมตัวให้ดีและพร้อมในการหางาน
3.สร้างโปรไฟล์ดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ หลายองค์กรจะเข้าไปดูประวัติและไลฟ์สไตล์ของคุณจากโซเชียลมีเดียก่อนจะทำการเรียกสัมภาษณ์ ฉะนั้นใช้ช่องทางโซเชียลอย่างสร้างสรรค์และมีสาระ
4.สร้างโปรไฟล์ระดับห้าดาว ใส่ทักษะที่คุณถนัด และความสามารถอันโดดเด่นของคุณ และที่สำคัญรายละเอียดการติดต่อกลับ
5.ฝากประวัติการทำงานให้บริษัท Recruit
6.ลงทุนกับอุปกรณ์ในการทำงาน
7.เตรียมให้พร้อมกับการประเมินออนไลน์ หรือการให้ทำ Testใบประเมินทางด้านจิตวิทยา รวมถึงกรอกแบบทดสอบบุคลิกภาพและความถนัด
8.ทำการค้นคว้าประวัติองค์กร
9.พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา รับผิดชอบตัวเอง
10.พร้อมที่จะทำงานทางไกลเวลาต้อง WFH
ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.), สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), TNN, JobDB, JobThai, www.ไทยมีงานทำ.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ที่เราจะได้รับจากประกันสังคม