รีเซต

การระบาดโควิด-19 ในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้นแล้ว แต่กระแสเกลียดชังคนเอเชียในสหรัฐฯ กลับมาอีกครั้ง

การระบาดโควิด-19 ในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้นแล้ว แต่กระแสเกลียดชังคนเอเชียในสหรัฐฯ กลับมาอีกครั้ง
TNN World
5 พฤษภาคม 2564 ( 13:35 )
110
การระบาดโควิด-19 ในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้นแล้ว แต่กระแสเกลียดชังคนเอเชียในสหรัฐฯ กลับมาอีกครั้ง

 

ข่าววันนี้ การระบาดโควิด-19 ในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้นแล้ว แต่กระแสเกลียดชังคนเอเชียในสหรัฐฯ กลับมาอีกครั้ง 

 

 

 

 

 

 

ถือค้อนมุ่งทำร้ายหญิงเอเชีย

 


ตำรวจนครนิวยอร์กเผยภาพจากล้องวงจรปิด วินาทีที่หญิงรายหนึ่งตรงเข้ามาทำร้ายผู้หญิงเอเชีย 2 คนที่เดินมาด้วยกันเมื่อวันอาทิตย์ (2 พ.ค. )

 


เหตุเกิดขึ้นริมถนนสายหนึ่งในนครนิวยอร์ก โดยมีจังหวะหนึ่งที่หญิงที่กำลังถูกทำร้าย เหวี่ยงขวดไวน์ที่เธอถือในมือ หวังจะสวนกลับคนร้ายที่ถือค้อนทำร้าย ก่อนจะเป็นวินาทีชุลมุน ผู้ก่อเหตุทำค้อนตก แล้ววิ่งหายไป 

 


หญิงที่ตกเป็นเหยื่อถือค้อนในมือ แล้วทั้งสองฝ่ายมีปากเสียงตะโกนเข้าใส่กัน เรื่องนี้จบลงที่หญิงเอเชียที่โดนทำร้ายเดินจากไป ก่อนที่เธอจะวิ่งไปแจ้งตำรวจให้ตามตัวคนร้าย เบื้องต้นทราบเพียงว่ามีผู้หญิงได้รับบาดเจ็บ 1 คน 

 


หนึ่งในหญิงที่ถูกทำร้ายบอกกับ NBC New York ว่าเธอ "ตกใจ" และเธออาศัยอยู่ในนิวยอร์กซิตี้มาสองปีแล้ว

 


เธอบอกว่า "ไม่เคยเผชิญกับเรื่องแบบนี้มาก่อน...สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของฉัน"

 

 


ถ้าคุณเกลียด...จงออกไป

 


ผู้ว่าการรัฐ แอนดรูว์ คูโอโม ประณามการโจมตี โดยระบุว่า “ผมรู้สึกขยะแขยงกับการโจมตีอย่างรุนแรงในมิดทาวน์แมนฮัตตัน ซึ่งเป็นอาชญากรรมความเกลียดชังครั้งล่าสุดที่ดูไร้เหตุผลและน่ารังเกียจ” 

 


“รัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผู้ที่เสี่ยงต่อการโจมตีเหล่านี้ และให้ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด”

 


เจ้าหน้าที่ทราบรูปพรรณสัณฐานของผู้ต้องสงสัยสูงประมาณ 5 ฟุต 9 นิ้ว เป็นหญิงผิวดำ 

 


ก่อนเกิดเหตุไม่กี่ชั่วโมง ชาวนิวยอร์กหลายร้อยคนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของเมืองเพิ่งไปรวมตัวกันที่การชุมนุมในเมืองฟลัชชิงในย่านควีนส์เพื่อประณามการก่ออาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย

 


“ถ้าคุณเกลียดจงออกไปจากที่นี่เพราะคุณไม่สมควรอยู่ในนครนิวยอร์ก"

 

 


อุณหภูมิความเกลียดไม่ลด แม้โควิดกำลังดีขึ้น

 


ภาพเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายชาวเอเชียที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ นี้ สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่นั้น ไม่ได้ลดอุณหภูมิความเกลียดชังชาวเอเชียของคนบางกลุ่มในสหรัฐฯ เลย 

 


เว็บไซต์ VOA เปิดเผยว่า เหตุทำร้ายชาวเอเชียใน 16 เมืองที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนถึง 164% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการจุดประกายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อปีที่แล้ว

 


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ดำเนินการเพื่อลดความรุนแรงที่นักเคลื่อนไหวกล่าวว่าส่วนหนึ่งมาจากวาทกรรมของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเชื้อไวรัส 

 

 


95 ครั้งใน 16 เมือง นับแต่เริ่มปี 2021

 


ข้อมูลของตำรวจรวบรวมโดยศูนย์ศึกษาความเกลียดชังและหัวรุนแรงที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ‘ซานเบอร์นาดิโน’ และมอบให้กับ VOA แสดงให้เห็นว่า ตำรวจสอบสวนการโจมตีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียทั้งหมด 95 ครั้งใน 16 เมืองที่มีประชากรมากที่สุด ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 36 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020

 


สำหรับ Hate Crime หรืออาชญากรรมความเกลียดชัง เป็นการมุ่งทำร้าย ทั้งผ่านคำพูดหรือการกระทำ ถือเป็นการกระทำผิดทางอาญาที่ผู้กระทำมีเหตุจูงใจจากอคติ หรือความเกลียดชังต่อคนกลุ่มหนึ่งที่มีเอกลักษณ์บางอย่างแตกต่างไปจากตน  ไม่ว่าจะทางด้านศาสนา เชื้อชาติ ภาษา ผิวสี และรสนิยมทางเพศ

 


Channel News Asia รายงานว่า เมื่อปีที่ผ่านมา แม้มีการรายงานถึง Hate Crime ต่อคนเชื้อชาติเอเชียในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น แต่ต้นตอของความเกลียดชังนี้มีมาตั้งนานแล้ว

 

 


เหยียดเอเชีย...เพราะอิจฉาที่ได้ดี

 


รายงานระบุว่า ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจากการ “อิจฉา” ความสำเร็จของชาวเอเชียภายในสังคมสหรัฐอเมริกา แม้เชื้อชาติเอเชียจะเป็นเพียง 5.9% ของชาวอเมริกันทั้งหมด แต่สัดส่วนของชาวเอเชีย-อเมริกัน ที่เข้ามหาวิทยาลัยหรือทำงาน “ชั้นนำ” ของสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่สูงมาก

 


“เคธี ปาร์ก ฮ่อง” นักกวีเอเชีย-อเมริกัน ชื่อดัง กล่าวว่า คนเอเชียถูกมองว่าเป็นคนต่างชาติที่มาแย่งที่ชาวอเมริกันมาโดยตลอด แม้จะเป็นคนอเมริกันก็ตาม

 


ความเคลื่อนไหวที่อาจจะช่วยสยบกระแสเกลียดชังนี้ได้ คือเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา วุฒิสภาอเมริกันผ่านร่างกฎหมายที่จะช่วยต่อต้านอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่มีต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะเเปซิฟิก หรือ AAPI (Asian Americans and Pacific Islanders) 

 


ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของนักการเมืองทั้งจากพรรคเดโมเเครตเเละรีพับลิกัน ท่ามกลางความรุนเเรงที่เพิ่มขึ้นต่อคนเชื้อสายเอเชีย ในช่วงที่เกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส

 


ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ผ่านสภาสูงด้วยคะเเนนโหวต 94 ต่อ 1 ยังสะท้อนถึงความร่วมมือของทั้งสองฝั่งการเมือง ซึ่งเห็นน้อยครั้งในการเมืองที่มีการเเบ่งขั้วชัดเจนและที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคต่อนโยบายเรื่องอื่นๆของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

 


กฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยเร่งการสืบสวนและการทำงานด้านต่างๆของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในคดีที่มีการใช้ความรุนเเรงต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะเเปซิฟิก

 



เรื่อง : ณัฐชยา สงวนสุข
ภาพ : Jason Leung 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง