นักบินอวกาศจีน 2 คน เดินอวกาศสร้างสถิติโลกใหม่ 9 ชั่วโมง ภายนอกสถานีอวกาศเทียนกง
สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานนักบินอวกาศชาวจีน 2 คน ได้เสร็จสิ้นการเดินในอวกาศภายนอกสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) และสร้างสถิติโลกเป็นเวลากว่า 9 ชั่วโมง ตามแถลงการณ์จากสำนักงานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีน ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของโครงการอวกาศของจีนที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
การเดินอวกาศครั้งนี้ของจีนทำภารกิจโดยนักบินอวกาศไช่ ซวีเจ๋อ (Cai Xuzhe) และซ่ง หลินตง (Song Lingdong) นอกสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) ในวงโคจรต่ำของโลก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม ซึ่งการเดินอวกาศในครั้งนี้สามารถทำลายสถิติเดิมของการเดินอวกาศภายนอกยานของนักบินอวกาศนาซา คือ นักบินอวกาศ เจมส์ วอส (James Voss) และซูซาน เฮล์มส์ (Susun Helms) ซึ่งทำเอาไว้ 8 ชั่วโมง 56 นาที ในปี 2001 ประมาณ 4 นาที
ก่อนหน้านี้นักบินอวกาศ 2 คน ดังกล่าวของจีนได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศในภารกิจ Shenzhou-19 การเดินอวกาศใช้ชุดอวกาศเผยเทียน (Feitian) ทำภารกิจต่าง ๆ ภายนอกสถานีอวกาศ เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเศษวัสดุขยะอวกาศ ตามรายงานของสำนักงานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีน
“พวกเขาทำภารกิจที่วางแผนไว้ทั้งหมดสำเร็จลุล่วง และรู้สึกตื่นเต้นมาก” หวู่ ห่าว เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนักบินอวกาศแห่งประเทศจีน (CARTC) กล่าวกับสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐ
ย้อนไปในปี ค.ศ. 1965 อดีตสหภาพโซเวียตได้กลายเป็นประเทศแรกที่ดำเนินการเดินอวกาศ โดยนักบินอวกาศ อเล็กเซ เลโอนอฟ (Alexei Leonov) บนยานอวกาศ โวสคอด 2 (Voskhod 2) นับจากนั้นเป็นต้นมา รัสเซียและสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการภารกิจดังกล่าวมาแล้วหลายร้อยครั้ง โดยส่วนใหญ่ดำเนินการนอกสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เช่น ภารกิจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปจนถึงการวิจัยวัสดุ ส่วนการเดินอวกาศครั้งแรกของนักบินอวกาศจีนเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2008
ความสำเร็จในการสร้างสถิติโลกการเดินอวกาศที่ยาวนานที่สุดของจีน นับเป็นก้าวสำคัญด้านการเดินอวกาศของจีน ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความสำเร็จทางอวกาศอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้วงการอวกาศจีนมีจุดยืนที่สามารถแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้การเดินอวกาศของจีนยังเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายระยะยาวที่จีนวางแผนส่งมนุษย์อวกาศเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่สามารถส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ รวมไปถึงการสร้างสถานีวิจัยบนพื้นผิวดวงจันทร์ร่วมกับอีก 12 ประเทศ ภายใต้โครงการสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station: ILRS) โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการสำรวจดวงจันทร์
ที่มาของข้อมูล Reuters, Space
ที่มาของรูปภาพ Xinhua