รีเซต

อย่าหลงเชื่อ! เตือน 10 ข่าวปลอมในรอบสัปดาห์ แนะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด

อย่าหลงเชื่อ! เตือน 10 ข่าวปลอมในรอบสัปดาห์ แนะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด
TNN ช่อง16
21 ธันวาคม 2567 ( 13:00 )
15

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Vistanix วิสตานิกซ์ ช่วยฟื้นฟูการมองเห็นได้ถึง 95-100% โดยไม่ต้องผ่าตัด” รองลงมาคือเรื่อง “พบเด็กนักเรียนในประเทศไทยติดเชื้อโนโรไวรัสแล้วกว่า 1,400 ราย” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

 

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 826,945 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 733 ข้อความ

 

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 701 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 26 ข้อความ ช่องทาง Website จำนวน 2 ข้อความ และ Facebook จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 264 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 83 เรื่อง

 

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

 

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคง

ภายในประเทศ จำนวน 99 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 90 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 12 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 20 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 43 เรื่อง

 

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

 

สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com



ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง