ทำอย่างไร? เมื่อสูญเสียสมาชิกครอบครัวแบบกะทันหัน
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นสายพันธุ์ที่พบการติดเชื้อได้ง่าย ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรงหรืออาจจะไม่แสดงอาการ จึงทำให้อาจแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกับบุคคลใกล้ชิดและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งอาจทำให้สมาชิกในครอบครัวบางคนที่ได้รับเชื้ออาจมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นการจากไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทันได้ตั้งหลัก และญาติไม่ได้มีโอกาสอยู่ด้วยจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต อันเนื่องมาจากมาตรการของการจัดการการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การสูญเสียสมาชิกในครอบครัวก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ คำถามที่ตามมาก็คือ จะดำเนินการอย่างไรเมื่อสูญเสียสมาชิกในครอบครัว
สิ่งแรกที่ควรทำก็คือหายใจลึกๆ แล้วตั้งสติ เพราะนอกเหนือจากการแจ้งข่าวการสูญเสียของครอบครัวต่อญาติสนิทมิตรสหายแล้วนั้น ยังมีกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ รอให้ดำเนินการอยู่ ควบคู่ไปกับการจัดงานศพ เพราะเมื่อมีผู้เสียชีวิต
กฎหมายกำหนดให้ต้องแจ้งการเสียชีวิตแก่สำนักทะเบียนอำเภอหรือท้องถิ่นที่ผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อออกใบมรณบัตร ซึ่งเอกสารที่ต้องเตรียมในการแจ้งการเสียชีวิต ได้แก่
1.เอกสาร ทร. 4/1 หรือ ทร. 4 ใบหน้า ซึ่งหากเป็นกรณีที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาล แพทย์จะออกเอกสารรับรองการเสียชีวิตให้ ส่วนกรณีที่เสียชีวิตที่อื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาล จะต้องไปแจ้งการเสียชีวิตต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อออกใบรับรองการเสียชีวิต และนำไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น
- 2.บัตรประชาชนของผู้เสียชีวิต
- 3.สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เสียชีวิต
- 4.บัตรประชาชนของผู้แจ้ง
หลังจากได้ใบมรณบัตรแล้ว สามารถติดต่อหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร สำนักงานประกันสังคม บริษัทประกัน เป็นต้น
- ในกรณีธนาคาร การแจ้งการเสียชีวิตของเจ้าของบัญชี อาจจะทำให้บัญชี/บัญชีร่วมของผู้เสียชีวิตนั้นเบิกถอนไม่ได้ แม้ว่าจะมีเงื่อนไขให้ผู้เบิกถอนเป็นเจ้าของร่วมคนใดคนหนึ่งได้ก็ตาม
- ในกรณีประกันสังคม หากผู้เสียชีวิตเป็นผู้ประกันตน ก็สามารถติดต่อสำนักงานประกันสังคมเพื่อรับค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ได้ทันที
- ส่วนการเรียกร้องสินไหมมรณกรรมจากบริษัทประกัน สามารถนำเอกสารตามที่บริษัทประกันระบุ เพื่อดำเนินการให้ผู้รับผลประโยชน์เรียกร้องสินไหมได้ทันที โดยจะต้องพึงระวังเรื่องระยะเวลาในการแจ้งถึงการเสียชีวิตตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ด้วย
ในด้านการจัดการทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต แนะนำให้มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งต้องอาศัยอำนาจศาล ดังนั้นจึงต้องว่าจ้างทนายเพื่อให้ร่างคำร้องและจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ในการยื่นต่อศาล และยื่นต่อศาลที่ผู้เสียชีวิตมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้นๆ
พร้อมทั้งลงประกาศหนังสือพิมพ์เรื่องคดีขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิตด้วย โดยหากผู้เสียชีวิตมีพินัยกรรมและได้ระบุให้ใครเป็นผู้จัดการมรดกก็จะเป็นไปตามพินัยกรรม แต่ถ้าหากไม่มีพินัยกรรม ทายาท ญาติ พี่น้อง คู่สมรส สามารถขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ ทั้งนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว หรือเป็นร่วมกันก็ได้ โดยระยะเวลาการขอตั้งผู้จัดการมรดกจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนเป็นอย่างน้อย
หลังจากศาลพิพากษาตัดสินเรียบร้อย ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เสียชีวิต ดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินมรดกนั้นตามความจำเป็น และแบ่งทรัพย์สินมรดกแก่ทายาท รวมถึงยื่นภาษีเงินได้ในนามผู้เสียชีวิตในปีแรก และถ้าหากปีถัดมายังแบ่งกองมรดกไม่หมด ผู้จัดการมรดกต้องยื่นเสียภาษีของกองมรดกด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น เป็นกระบวนการที่ต้องจัดการเมื่อเกิดการสูญเสียสมาชิกครอบครัว การวางแผนที่ดีจะทำให้การจัดการในเรื่องต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น เรียบร้อย และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านครับ