หุ่นยนต์นักขุดดินปลูกป่า ไอเดียจากนักเรียนมัธยมอเมริกันที่ได้แรงบันดาลใจจากตัวนิ่ม
นักเรียนมัธยมตอนปลายจากโรงเรียนโดโรธี รัฐแคลิฟอร์เนีย ออกแบบหุ่นยนต์นักขุดดินแพลนโทลิน (Plantolin) เพื่อทำภารกิจปลูกป่า โดยได้รับแรงบันดาลใจจากตัวนิ่มหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กำลังถูกมนุษย์ล่าเพื่อเป็นอาหารและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่ง
โดยหุ่นยนต์นักขุดเดินแพลนโทลิน (Plantolin) ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันหุ่นยนต์ธรรมชาติประจำปี 2024 ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ซึ่งกิจกรรมการแข่งขันนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมนิเวศวิทยาอังกฤษ (British Ecological Society) เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ จากทั่วโลกส่งไอเดียหุ่นยนต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติเข้าร่วมประกวด ก่อนหน้านี้ ในปีที่ผ่านมาผลงานหุ่นยนต์ปลาที่กรองอนุภาคไมโครพลาสติกออกจากน้ำได้รับรางวัลชนะเลิศ
สำหรับไอเดียหุ่นยนต์แพลนโทลินไอเดียจากผู้ชนะในปีนี้ แม้ไอเดียจะมาจากนักเรียนมัธยม แต่การพัฒนาเชิงเทคนิคนั้นได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญและนักพัฒนาหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (University Of Surrey) ในอังกฤษ ที่นำไอเดียของน้อง ๆ โรงเรียนมัธยมมาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ขึ้นมาจริง ๆ
นอกจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ยังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ ที่เข้าร่วมในการประกวดไอเดียหุ่ยนต์ เช่น มหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน (Queen Mary University of London), ราชวิทยาลัยศิลปะ (Royal College of Art), สถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม EPFL Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ , มหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก (Technical University of Munich) และมหาวิทยาลัยอเล็กซานเดอร์ ฮุมโบลด์ (Alexander Humboldt University) ประเทศเยอรมนี
การออกแบบหุ่นยนต์แพลนโทลินมีลักษณะคล้ายกับตัวนิ่ม ติดตั้งล้อขับเคลื่อนไว้ด้านหลัง 2 ล้อ ส่วนด้านหน้ามีเพียงล้อเดียว ระบบขับเคลื่อนเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนหางของหุ่นยนต์ติดตั้งไว้เพื่อเป็นตัวถ่วงน้ำหนักเมื่อหุ่นยนต์เคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ต่าง ๆ การขุดดินทำด้วยขาหน้าทั้ง 2 ข้าง ที่มีลักษณะเป็นกรงเล็บเชื่อมต่อกับมอเตอร์ไฟฟ้า
หลังจากขุดดินสำเร็จเสร็จหุ่นยนต์แพลนโทลินก็จะขับผ่านหลุมนั้น และปล่อย "ระเบิดเมล็ด" หรือเมล็ดพันธุ์ของต้นยู (Yew or Taxus baccata) ลงไปในหลุม โดยเมล็ดพันธุ์จะถูกเก็บไว้จำนวนหนึ่งบริเวณด้านบนของตัวหุ่นยนต์ ก่อนถูกลำเลียงไปทางสายพานภายในตัวหุ่นยนต์
“การฟื้นฟูป่าโดยการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาโลกของเราอย่างยั่งยืน ตัวนิ่มหรือลิ่นใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการขุดดิน ดังนั้น ผมจึงคิดว่าหุ่นยนต์ปลูกต้นไม้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพฤติกรรมของตัวนิ่มน่าจะดูเป็นธรรมชาติมาก” ดร. โรเบิร์ต ซิดดัล (Dr.Robert Siddall) นักพัฒนาหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (University Of Surrey) อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของหุ่นยนต์
ที่มาของข้อมูล Newatlas
ที่มาของรูปภาพ University Of Surrey