รีเซต

STA กำไร Q1/65 ที่ 1.5 พันลบ. ลดลง 74.7% ตามราคาขายถุงมือยางอ่อนตัว

STA กำไร Q1/65 ที่ 1.5 พันลบ. ลดลง 74.7% ตามราคาขายถุงมือยางอ่อนตัว
ทันหุ้น
10 พฤษภาคม 2565 ( 09:30 )
228

#STA #ทันหุ้น-บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ไตรมาส 1/65 มีกำไร 1,509.02 ล้านบาทลดลง 74.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไร 5,958.50 ล้านบาท เนื่องมาจากราคาขายเฉลี่ยของถุงมือยางที่อ่อนตัวลงเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจยางธรรมชาติสามารถรักษาอัตราการทำกำไรได้ในระดับสูง พร้อมด้วยปริมาณคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากปริมาณสินค้าคงคลังของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา 

 

ในไตรมาส 1/65 มีรายได้รวมอยู่ที่ 27,999.9 ล้านบาท ปรับลดลง 11.3% โดยรายได้จากธุรกิจยางธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วน 74.7% ของรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 20,926.5 ล้านบาท เติบโต 30.1% เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น 21.6% ตามทิศทางของราคายางธรรมชาติในตลาดโลก ประกอบกับปริมาณการขายที่เติบโตได้ดีกว่าสภาวะตลาด 7.0% อยู่ที่ 348,971 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณการขายที่เติบโตต่อเนื่องถึง 7 ไตรมาสด้วยกัน 

 

สำหรับธุรกิจถุงมือยาง สร้างรายได้ให้แก่บริษัท 7,049.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25.2% ของรายได้จากการขายและบริการ ปรับลดลง 54.4% จากราคาขายเฉลี่ยของถุงมือยางที่ปรับลดลง ซึ่งบางส่วนสามารถชดเชยด้วยปริมาณการขายที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในไตรมาส 1/65 บริษัทมีปริมาณการขายถุงมือยางรวม 7,908 ล้านชิ้น ทั้งนี้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถุงมือยางอยู่ที่ 28.1% ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างมาก 

 

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 มีรายได้จากการขายและบริการทั้งสิ้น 28,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,509 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขายและบริการ 31,580 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,959 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยถุงมือยางในตลาดโลกลดลง อย่างไรก็ตามในด้านปริมาณการขายถุงมือยางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

 

ส่วนธุรกิจยางธรรมชาติที่เป็นเรือธงในการขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของกลุ่มศรีตรังฯ นั้น มีราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยราคายางแท่ง TSR20 ณ ตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าสิงคโปร์ (SICOM) เฉลี่ยอยู่ที่ 176.9 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.9% ส่วนปริมาณการขายเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมและเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 7 ส่งผลดีต่ออัตรากำไรที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง 

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ สามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 12% ภายในสิ้นปีนี้ และต่อเนื่องเป็น 20% ในอีก 3 ปีข้างหน้า และสามารถรักษาอัตราการเดินเครื่องจักรของโรงงานแท่งในประเทศไทยสูงกว่า 80% เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดีมานด์จากกลุ่มผู้ผลิตยางล้อที่นอกเหนือจากประเทศจีน (Non – China) อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย เป็นต้น หันมาสั่งซื้อจากผู้ผลิตยางในไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่นิยมสั่งซื้อจากอินโดนีเซีย 

 

ขณะเดียวกันจากปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกยางในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานยางแท่ง (TSR) ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ พิษณุโลก เลยและเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ สระแก้วและมุกดาหาร ภาคใต้ ได้แก่ ตรังและนราธิวาส จะทยอยแล้วเสร็จในปี 2565 – 2567 ใช้งบลงทุนรวมประมาณ 8,800 ล้านบาท ซึ่งมาจากกำไรสะสมและการเสนอขายหุ้นกู้ที่มีต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำ 

 

สำหรับภาพรวมความต้องการใช้ยางธรรมชาติทั่วโลกในปี 2565 คาดว่าจะมีอัตราเติบโต 3% โดยบริษัทฯ วางเป้าหมายปริมาณการขายยางทุกประเภทรวมที่ 1.6 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน ปัจจัยมาจากการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งอุตสาหกรรมยางในตลาดโลก ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากใช้ชิ้นไม้สับ (Woodchip) เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าก๊าซแอลพีจีหลายเท่า

 

นอกจากนี้ หลังจากบริษัทฯ นำแอปพลิเคชัน SRI TRANG FRIENDS เข้ามาให้บริการแก่ชาวสวนเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายยางและรับข้อมูลข่าวสารรวมถึงสิทธิประโยชน์ ล่าสุดได้ต่อยอดพัฒนาฟีเจอร์ของแอปพลิเคชันเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ (Eco-System) การให้บริการอย่างครอบคลุม เช่น การตรวจย้อนกลับ (Traceability) แหล่งที่มาวัตถุดิบ, ให้สิทธิสะสมแต้มแก่ชาวสวนที่เข้ามาใช้บริการ รวมถึงการเข้ารับยางจากชาวสวน (Delivery) โดยในอนาคตอันใกล้จะขยายไปถึงฟังก์ชัน Job Matching สำหรับเจ้าของสวนยางและผู้กรีดยาง และการเป็นตัวกลางในการให้กู้ยืมผ่านระบบดิจิทัล (Digital Lending) อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางธรรมชาติให้ขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง