รีเซต

โควิด-19: สธ. ห่วง "ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง" ยังได้รับวัคซีนโควิด-19 น้อยกว่าที่ควร

โควิด-19: สธ. ห่วง "ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง" ยังได้รับวัคซีนโควิด-19 น้อยกว่าที่ควร
ข่าวสด
16 มิถุนายน 2564 ( 01:32 )
85

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวขอโทษประชาชนเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ จากการที่ประชาชนหลายคนถูกเลื่อนนัดหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปอย่างไม่มีกำหนด ด้านกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยอมรับว่าขณะนี้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนแล้วยังมีจำนวนน้อย

 

 

วันที่ 15 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่านับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดทั่วประเทศ ภายใน 1 สัปดาห์ฉีดไปแล้วมากกว่า 2 ล้านโดส และหากนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ที่ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรก มีการฉีดไปแล้วมากกว่า 6.5 ล้านโดส

 

 

นายกฯ บอกว่าตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการฉีดวัคซีน ดังนั้นหากได้รับวัคซีนมามากกว่านี้ก็น่าจะฉีดได้มากกว่านี้

 

 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าเขา "ไม่สบายใจและพยายามแก้ปัญหา" กรณีที่โรงพยาบาลและศูนย์ฉีดวัคซีนหลายแห่งประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่าภาครัฐไม่ได้จัดสรรวัคซีนให้อย่างเพียงพอ หรือภาครัฐไม่ได้มีการประสานงานกันอย่างดีพอ

 

 

นายกฯ ชี้แจงว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจาก "ปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก" คือการนำส่งวัคซีนที่ต้องใช้เวลาทั้งในขั้นตอนการผลิตและตรวจสอบคุณภาพ ทำให้ไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนทุกครั้งว่าจะส่งมอบได้วันใด เวลาใด เขายืนยันว่าหลายประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหาแบบนี้ทั้งสิ้น แต่ประเทศไทยยังได้เปรียบที่มี บริษัท สยามไบโอไซน์เอนซ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้การขนส่งทำได้อย่างรวดเร็ว

 

 

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการปรับแผนกระจายวัคซีนตลอดเวลาคือสถานการณ์การระบาดที่ทำให้ต้องจัดสรรวัคซีนไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ เช่น โรงงาน จึงอาจทำให้กระทบที่ผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนไว้ก่อนในบางส่วน

 

 

 

"ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. ถือเป็นผู้บริหารสูงสุดในสงครามโควิดครั้งนี้ ต้องขออภัยด้วยกับปัญหาที่เกิดขึ้น และขอรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งผมได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกวัน ทุกเวลาอยู่แล้ว เพราะนี่คือวาระแห่งชาติที่ผมได้ประกาศออกไป เราต้องร่วมใจกันทุกฝ่ายในการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ เพื่ออนาคตของประเทศชาติ ปัญหาอุปสรรคอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะระยะแรกตอนนี้ ที่ทั่วโลกยังมีวัคซีนจำกัด ทำให้กระทบต่อการจัดการ แต่จากการวางแผนของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และการจัดหาวัคซีนล่วงหน้า ทำให้เรามั่นใจว่าจะได้รับวัคซีนมาอย่างต่อเนื่องและปริมาณที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จากหลาย ๆ แหล่งด้วยกัน ขอเน้นย้ำว่ารัฐบาลได้จัดการวัคซีนออย่างเพียงพอต่อคนในประเทศไทยทุกคน ขณะนี้เราสามารถจัดหาวัคซีนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสแล้ว สำหรับประชาชน 50 ล้านคน หรือที่เรียกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศภายในสิ้นปีนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

 

 

 

 

ทำเนียบรัฐบาล
"ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. ถือเป็นผู้บริหารสูงสุดในสงครามโควิดครั้งนี้ ต้องขออภัยด้วยกับปัญหาที่เกิดขึ้น"

 

 

การขออภัยของนายกฯ ในวันนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ หลังจากเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. พล.อ. ประยุทธ์เอ่ยคำว่า "ขอโทษแล้วกัน" ที่ทำให้ทุกคนไม่สบายใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล

 

 

"อะไรที่ทุกคนไม่สบายใจ ก็ขอโทษแล้วกัน ก็จะทำให้ดีที่สุด ผมและพวกเราทุกคนตั้งใจจะทำเพื่อคนไทยทุกคน" พล.อ. ประยุทธ์กล่าวในวันคิกออฟการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ

 

 

 

"ไม่ได้ยึดอำนาจไว้คนเดียว"

นายกฯ ยังได้ชี้แจงการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบและกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนโดยบอกว่าเขาไม่ได้ยึดอำนาจไว้คนเดียว อันดับแรก แต่เป็นไปตามลำดับขั้นดังนี้

 

 

1.ศบค. ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้กำหนดนโยบายและหลักการในการจัดสรรวัคซีนให้แต่ละจังหวัด บนหลักการว่าทุกจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนตามสัดส่วนของประชากร และเพิ่มเติมให้จังหวัดที่มีการแพร่ระบาด มีกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา และอื่น ๆ

 

 

2. สธ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับมอบนโยบายจาก ศบค. เป็นผู้กำหนดว่าวัคซีนที่ได้รับในแต่ละรอบจะจัดส่งแต่ละจังหวัดจำนวนเท่าไหร่ โดยหลังได้รับมอบวัคซีนแล้วจะเร่งตรวจสอบคุณภาพและจัดส่งไปทั่วประเทศโดยทันที

 

 

3. ผู้บริหารในแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้กำหนดว่าโรงพยาบาลและศูนย์บริการฉีดวัคซีนแต่ละแห่งจะได้รับวัคซีนจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ หากจำนวนวัคซีนที่ได้ไม่เพียงพอต่อการฉีดคนที่ลงทะเบียนไว้แล้วในรอบนั้น ให้พิจารณาจัดสรรให้กลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคเสี่ยงที่ลงทะเบียนไว้ก่อนแล้ว

 

 

สธ. ห่วง "กลุ่มเสี่ยง" จำนวนน้อยได้รับวัคซีน

ก่อนหน้าการแถลงข่าวของนายกฯ ในช่วงเช้า ผู้บริหาร สธ. ได้รายงานความคืบหน้าและสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทย โดย นพ. โสภณ เมฆธน ผู้ช่วย รมว. สธ. ย้ำว่าขณะนี้กลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ยังคงเป็นเป้าหมายลำดับแรกของการฉีดวัคซีน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เริ่มมีการฉีดตั้งแต่ 28 ก.พ. เป็นต้นมา ขณะนี้ได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้ว 86.5%

 

 


พยาบาลเตรียมวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนที่เข้ารับบริการที่หอประชุมวัดไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.

 

 

"กลุ่มซึ่งเป็นเป้าหมายคือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสีย ยังได้รับวัคซีนจำนวนน้อย" นพ.โสภณกล่าวและอธิบายว่า สธ. ตั้งเป้าหมายว่าผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังจะต้องได้รับวัคซีนในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. นี้ เช่นเดียวกับที่บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มเป้าหมายของการฉีดในช่วงก่อนหน้านี้

 

 

ผู้ช่วย รมว. สธ. ย้ำว่าผู้รับผิดชอบในการจัดสรรวัคซีนในระดับจังหวัด "ควรจะให้ 2 กลุ่มนี้เป็นลำดับความสำคัญแรก ๆ โดยเฉพาะคนที่ลงทะเบียนนัดหมายแล้วในระบบหมอพร้อมควรจะได้รับวัคซีนตามนั้น"

 

 

นพ. โสภณให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ประชาชนสองกลุ่มเป้าหมายนี้ที่ลงทะเบียนจองการฉีดไว้ในระบบหมอพร้อมมีทั้งหมด 8.1 ล้านโดส ส่วนวัคซีนที่ประเมินว่าจะกระจายไปยังหน่วยบริการฉีดวัคซีนต่าง ๆ มีจำนวน 9 ล้านโดส ดังนั้นจึงเพียงพอสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนไว้ทุกคนหากบริหารจัดการตามแผนอย่างดี

 

 

ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิ.ย. การฉีดวัคซีนของประชากรสองกลุ่มนี้ มีดังนี้

ผู้สูงอายุ: ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 161,449 โดส และ เข็มที่ 2 จำนวน 11,063 โดส

ผู้มีโรคประจำตัว: ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 120,151 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 16,822 โดส

 

 

สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จองการฉีดวัคซีนและถูกเลื่อนการฉีดออกไปนั้น นพ.โสภณแนะนำให้ติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่ทำการจองไว้ หากมีปัญหายังไม่ได้วันนัด สธ.จะเข้าไปช่วยเหลือ

 

 

 

"ยังเป็นไปตามแผน"

 

 

นพ. โอภาส การย์กวินพงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่าการกระจายวัคซีนยังคงเป็นไปตามแผนที่ ศบค.และ สธ. กำหนดร่วมกัน กล่าวคือในเดือน มิ.ย.จะมีการกระจายวัคซีนจำนวน 6 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้กระจายไปแล้ว 3.5 ล้านโดส นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. มีการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) เพียงวันเดียวสามารถฉีดได้ 323,060 โดส หากศักยภาพในการฉีดอยู่ที่วันละประมาณ 300,000 โดส ภายใน 1 เดือนก็จะฉีดได้ 10 ล้านโดส ซึ่งถึงว่าอยู่ในระดับที่สูง

 

 

"ยังมีการฉีดไปเรื่อย ๆ เพราะส่วนใหญ่วัคซีนที่กระจายไปอยู่ในจุดฉีดต่าง ๆ ซึ่งยังสามารถให้บริการพี่น้องประชาชนได้อย่างดี" นพ.โอภาสกล่าวและให้ข้อมูลว่าในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือน มิ.ย. จะมีวัคซีนเข้ามาอย่างน้อย 3 ล้านโดส ซึ่งจะกระจายไปจุดต่าง ๆ ในสัปดาห์นี้

 

 

 

สำหรับข้อสงสัยถึงระยะห่างระหว่างการฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ซึ่งบางคนมีข้อสงสัยว่าเหตุที่เว้นระยะนานเป็นเพราะปัญหาเรื่องวัคซีนไม่เพียงพอหรือไม่นั้น นพ.โอภาสกล่าวว่าระยะห่างตามนัดเป็นไปตามข้อบ่งชี้ของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ดังนี้

 

 

  • วัคซีนซิโนแวค ระยะฉีดระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 อยู่ที่ 2-4 สัปดาห์
  • วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามเอกสารใบกำกับวัคซีนและข้อมูลของจากคณะกรรมการวิชาการ กำหนดให้ฉีดได้ในระยะ 10-12 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่จะนัดหมายที่ 12 สัปดาห์ แต่ "สามารถขยายเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป"

 

 

 

นพ. โอภาสชี้แจงเพิ่มเติมว่าเหตุที่แผนบริหารจัดการวัคซีนและมาตรการต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย เพราะโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงข้อมูลใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องปรับเปลี่ยนแผนตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการใหม่ ๆ ที่มีการรายงาน

 

 

 

จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังไม่ลด

แม้ว่าจำนวนคนที่ได้รับวัคซีนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตในแต่ละวันยังไม่ลดลง

พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์การระบาดวันนี้ (15 มิ.ย.) ดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,000 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,355 ราย เรือนจำ 640 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 202,264 ราย หากนับเฉพาะการระบาดระลอก เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 173,402 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 38,061 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,249 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 365 ราย
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (872 ราย) สมุทรปราการ (336 ราย) ปทุมธานี (202 ราย) สมุทรสาคร (163 ราย) และนครปฐม (88 ราย)
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 1,485 ราย คิดเป็น 0.73% และหากนับเฉพาะระลอก เม.ย. อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.80%

 

 

 

ข้อมูลการฉีดวัคซีน (ณ 18.00 น. วันที่ 14 มิ.ย.)

  • 7-14 มิ.ย. ฉีดได้ 2,410,663 โดส
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งหมด 6,511,184 โดส
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 4,762,063 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็ม 1,749,121 ราย
  • กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 13.85% และเข็มที่ 2 คิดเป็น 4.45% ของประชากร ซึ่งมีอยู่ประมาณ 14.8 ล้านคน
  • จากประชากรที่มีคุณสมบัติรับวัคซีนทั้งหมด 55.2 ล้านราย มีผู้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 4.04% เข็ม 2 ฉีดได้ 1.60% ของประชากร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง