ครม.มีมติใช้เกณฑ์ UCEP Plus รักษาโควิด “สีเหลือง-สีแดง”
วันนี้ (8 มี.ค. 65) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 65 เป็นต้นไป
สำหรับผู้ป่วยติดโควิด-19 ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินตามเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดแนวทางและเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินไว้แล้ว คือ กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่กำหนดระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก โดยสิทธิที่มีการปรับปรุงนี้เรียกว่า UCEP Plus ซึ่งสิทธิดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้มีการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรงจากโรงพยาบาลหนึ่งไปเข้ารับการรักษาใน ICU ของอีกโรงพยาบาลได้ภายหลัง 72 ชั่วโมงแรกด้วย ซึ่งดีกว่าโรคอื่นๆ ที่เข้าตามนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต
"สิทธิ UCEP PLUS คือการปรับปรุงให้ดีขึ้น จากเดิมสิทธิ UCEP จะมีการกำหนดระยะเวลา และจะไม่รับผู้ป่วยสีเหลือง สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว อาการน้อย โรงพยาบาลก็จะแนะนำให้ไปรักษาแบบ HI หรือ CI ซึ่งถือเป็นการกันเตียงให้ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลได้ดียิ่งขึ้น" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
สาระสำคัญของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ กรณีโรคโควิด-19 มีดังนี้ กำหนดให้สถานพยาบาลต้องจัดให้มีการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาล โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดูแลรักษา และให้สถานพยาบาลแจ้งต่อกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนหรือจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐทราบโดยเร็ว
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้กรณีที่มีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้ปรึกษาศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการวินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินให้ถือเป็นที่สุด ซึ่งแนวทางการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และแบบแจ้งผลการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้เป็นไปตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด
ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว จะไม่นับเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และไม่สามารถใช้สิทธิ UCEP PLUS ได้ ทั้งนี้ สามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิของแต่ละคน เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ ซี่งการรักษาทุกอย่างยังไม่เสียค่าใช้จ่ายตามเดิม อย่างไรก็ดี แนะนำให้ดูแลแบบ Home Isolation (HI), Community Isolation (CI) หรือ Hotel Isolation
ภาพจาก : AFP