รีเซต

เซ่นภาษีทรัมป์! ธุรกิจหั่นเป้ารายได้ความเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 12 ปี l การตลาดเงินล้าน

เซ่นภาษีทรัมป์! ธุรกิจหั่นเป้ารายได้ความเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 12 ปี l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
2 เมษายน 2568 ( 12:26 )
11

ฟอร์จูน (Fortune) รายงานว่า ผู้บริโภคสหรัฐฯ มีสัญญาณระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น จากรายงานตัวเลขรายได้ส่วนบุคคล ของเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 แต่การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 ขณะที่อัตราการออมเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 4.6 จากข้อมูลดังกล่าว บิลล์ อดัมส์ (Bill Adams) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคาร โคเมริกา (Comerica) ระบุว่า เป็นการยืนยันถึงกิจกรรมของผู้บริโภคในไตรมาสแรก ปี 2025 กำลังชะลอตัวลง ทั้งบอกอีกว่า การใช้จ่ายที่อ่อนแอลงในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเพียงครั้งเดียวจากเหตุไฟไหม้ใน แอลเอ และสภาพอากาศที่เลวร้าย แต่การฟื้นตัวที่อ่อนแอในเดือนกุมภาพันธ์ กลับชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ต่อเนื่องและยาวนานกว่า

ขณะเดียวกัน รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก คอนเฟอร์เรนซ์ บอร์ด (Conference Board) ล่าสุด ก็ปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 65.2 เป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 12 ปี และดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 80 โดยปกติแล้วจะเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะถดถอยในอนาคต

สอดคล้องกับ การสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่าปรับตัวลดลงไปถึงร้อยละ 11 จึงยืนยันได้ถึงความเชื่อมั่นที่แย่ลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เกี่ยวกับทั้งการเงินส่วนบุคคล สภาวะทางธุรกิจ การว่างงาน และภาวะเงินเฟ้อ 

ขณะที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันเครียดจากสถานการณ์ในปัจจุบัน และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จึงทำให้บริษัทต่าง ๆ ปรับลดคาดการณ์รายได้และกำไร และบริษัทอีกจำนวนมาก กำลังจับตามองผลกระทบจากนโยบายด้านการจัดเก็บภาษีศุลการ ราคาสินค้า เงินเฟ้อ และพฤติกรรมของผู้บริโภค

ซึ่งจากรายงานข่าวของ ฟอร์จูน ธุรกิจที่หั่นเป้ารายได้และกำไรแล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการขนส่ง การเดินทาง และค้าปลีก ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง เช่น

เฟดเอ็กซ์ (FedEx) ปรับลดคาดการณ์กำไรทั้งปีเหลือ 18 - 18.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น จากเดิม 19 - 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น ซึ่งก็ลดลงมาจากคาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว อยู่ที่ 20 - 22 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น โดย จอห์น ดีทริช (John Dietrich) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ระบุในรายงานผลประกอบการรายไตรมาส ว่า แนวโน้มที่ลดลง เกิดจากความท้าทายในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโลก แรงกดดันจากเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าโลก

ส่วน สายการบินเดลต้า แอร์ไลน์ (Delta Air Lines) ปรับลดคาดการณ์รายได้สำหรับไตรมาสแรก โดยคาดการณ์กำไรอยู่ระหว่าง 30 ถึง 50 เซนต์ต่อหุ้น จากเมื่อเดือนมกราคม ที่คาดการณ์ไว้ที่ 70 เซนต์ ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น โดยเอกสารที่รายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลนั้น เดลต้า ให้เหตุผลว่า เกิดจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลง อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ

และสายการบิน อเมริกัน แอร์ไลน์ (American Airlines) ก็ปรับลดคาดการณ์การเติบโตในไตรมาสแรก จากก่อนหน้านี้ ที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-5 ปรับมาเป็นคงที่ หรือไม่เติบโต เนื่องจากอุปสงค์ในกลุ่มการเดินทางพักผ่อนในประเทศลดลง และผลกระทบจากเหตุการณ์เครื่องบินตกเหนือแม่น้ำโพโตแมค (Potomac River) 

ส่วนภาคค้าปลีก เช่น วอลมาร์ต (Walmart) คาดการณ์รายได้ทั้งปีที่ปรับแล้ว อยู่ที่ 2.50 ถึง 2.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของ วอลล์สตรีท ที่ 2.76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น โดย ดั๊ก แมคมิลลอน (Doug McMillon) ซีอีโอ วอลมาร์ต ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้ บอกว่า ลูกค้าที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เริ่มลดการใช้จ่าย และมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความเครียดกันมากขึ้น 

อีกรายคือ อเมริกัน อีเกิล (American Eagle) แบรนด์ค้าปลีกเสื้อผ้าและเครื่องประดับในสหรัฐฯ รายงานว่า บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการใช้จ่าย อีกทั้ง คาดว่าการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรกับจีน จะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 5 ถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง เจย์ ช็อตเทนสไตน์ (Jay Schottenstein) ซีอีโอ ของอเมริกัน อีเกิล ให้มุมมองว่า ความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ กำลังส่งผลให้อุปสงค์ลดลง ส่วนสาเหตุ ไม่ใช่แค่เรื่องการปรับขึ้นภาษีนำเข้า หรือเงินเฟ้อ แต่เป็นเรื่องที่ว่า รัฐบาลตัดขาดประชาชน และพวกเขาไม่รู้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร

ขณะที่ แบรนด์เครื่องแต่งกายกีฬาสัญชาติแคนาดา ลูลู่เลมอน (Lululemon) พบว่า ความต้องการของผู้บริโภคลดลง และเริ่มปรากฏให้เห็นจากยอดทราฟฟิกที่เข้ามาซื้อสินค้าในร้าน ลดลง โดยคาดการณ์รายได้ของ ลูลู่เลมอน ไตรมาสแรก นี้อยู่ที่ 2,340 - 2,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าที่สตรีท (Street) คาดการณ์ไว้ที่ 2,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าว ยังได้ร่วมกับ Ipsos (อิปซอสส์) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็น เพื่อสำรวจเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ยืนยันได้ว่า ผู้บริโภค มีการใช้จ่ายน้อยลง เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจ ส่งผลให้ยอดทราฟิกในสหรัฐฯ ของทั้ง ลูลู่เลเมอน และบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ลดลง 

อย่างไรก็ตาม คาลวิน แมคโดนัลด์ (Calvin McDonald) ซีอีโอ ของ ลูลู่เลมอน กล่าวว่า ผู้ซื้อยังคงตอบสนองต่อนวัตกรรมของบริษัทได้ดี แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอย่างมาก จากสถานการณ์มหภาค และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ ส่วน เมแกน แฟรงค์ (Meghan Frank) ซีเอฟโอ ของ ลูลู่เลมอน ระบุว่า อุปสรรคด้านภาษีศุลกากร อาจส่งผลให้ยอดขายในปี 2025 นี้ชะลอตัวลง จากก่อนหน้านี้ ฝ่ายบริหารคาดการณ์รายได้ทั้งปี อยู่ที่ 11,100-11,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

และไนกี้ (Nike) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการรองเท้ากีฬา ก็ออกมาเตือนถึงผลกระทบจากนโนบายภาษีศุลกากร โดย แมทธิว เฟรนด์ (Matthew Friend) ซีเอฟโอ ของไนกี้ คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 4 จะลดลงราวร้อยละ 4-5 ซึ่งคาดการณ์ดังกล่าวนี้ ได้รวมค่าธรรมเนียมการปรับโครงสร้างธุรกิจ และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากภาษีศุลกากรใหม่ ที่จะใช้กับสินค้านำเข้าจากจีนและเม็กซิโกไว้ด้วยแล้ว 

นอกจากนี้ รายงานของ ไพร้ซ์ วอเตอร์ เฮ้าส์ (PWC) ประเมินถึงผลกระทบจาก นโยบายภาษีศุลกากรใหม่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว และรวมถึงภาษีนำเข้าต่างตอบแทน หรือ ภาษีที่เรียกเก็บในอัตราที่เท่าเทียมกัน ที่จะบังคับใช้กับคู่ค้าของสหรัฐฯ ทั่วโลก อาจส่งผลกระทบต่อภาคสินค้าอุปโภคบริโภค สูงถึง 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าภาษีศุลกากรปัจจุบันที่ 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่า 5 เท่า

ซึ่งภาคค้าปลีกสหรัฐฯ ได้เริ่มขยับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว โดยมี ยักษ์ใหญ่อย่าง วอลมาร์ต (Walmart) และ ทาร์เก็ต (Target) เป็นรายแรก ๆ ที่เปิดเผยถึงแผนการจัดการความเสี่ยงจากภาษีศุลกากร

โดย จอห์น เดวิด เรนีย์ (John David Rainey) ให้ข้อมูลกัล ยาฮู ไฟแนนซ์ (Yahoo Finance) บอกว่า บริษัทฯ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว แต่โดยปกติแล้ว จะมีการทำงานร่วมกันกับซัพพลายเออร์ เช่น ปรับเปลี่ยนการจัดหาสินค้าตามความจำเป็น อีกทั้ง สามารถพึ่งพาแบรนด์ของตัวเองได้ โดยมีเครื่องมือมากมายที่ช่วยให้เรารักษาราคาสินค้าให้ถูกไว้ สำหรับลูกค้า

อย่างไรก็ดี เรนีย์ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาสินค้า แต่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบบางอย่างต่อผู้บริโภคหากต้นทุนเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับ ทาร์เก็ต ที่บอกว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองรับซัพพลายเออร์ เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทฯ จะสามารถลดต้นทุนของตัวเองให้ได้ก่อน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง