รีเซต

เปิดไทม์ไลน์"นกสกู๊ต"ก่อนเลิกกิจการ ยื้อต่อไม่ไหว

เปิดไทม์ไลน์"นกสกู๊ต"ก่อนเลิกกิจการ ยื้อต่อไม่ไหว
TNN ช่อง16
27 มิถุนายน 2563 ( 10:02 )
165

        เป็นที่ฮือฮากันอย่างมาก กับการประกาศยุติกิจการของค่ายเรือบินราคาประหยัดของบรรดาสายเที่ยว อย่าง "นกสกู๊ต" เมื่อวานนี้  ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ(บอร์ด)ของบริษัท ที่มีมติตรงกันให้เลิกกิจการ โดยผู้ถือหุ้นของนกสกู๊ต จะลงมติเป็นอย่างเดียวกันในที่ประชุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในอีกประมาณ 14 วัน โดยจะส่งผลให้พนักงานจำนวน 425 คน ถูกเลิกจ้าง 

        การดำเนินธุรกิจการบินของ "นกสกู๊ต" สายการบินสัญชาติสิงคโปร์ได้เดินทางมาได้ยังไม่ถึง 10 ปี ด้วยการร่วมทุนกับสายการบินของไทย  ดังนั้นวันนี้เราจะมาย้อนเส้นทางการดำเนินธุรกิจของ"นกสกู๊ต"ตั้งแต่เริ่มมาดำเนินธุรกิจในไทย


cr:NokScoot Facebook 

กำเนิด"นกสกู๊ต" ปี 2557 

        "นกสกู๊ต" เป็นสายการบินร่วมทุนราคาประหยัด ระหว่างสายการบิน "นกแอร์ " ของคนไทย และสายการบินสกู๊ต จากประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2557   โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินธุรกิจท่ามกลางความท้าทายในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงข้อจำกัดในการขยายเครือข่ายการบินภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันที่รุนแรง 

การแข่งขันของหลายสายการบิน - เริ่มขาดทุนเมื่อปี 2559

        หลังดำเนินธุรกิจในไทยมาได้  2 ปี  นกสกู๊ตต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น จากการที่ประเทศไทยเปิดกว้างให้กับธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ให้เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยมากขึ้น รวมทั้งประเด็นขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่ตั้งสัญลักษณ์ธงแดงให้กับประเทศไทย จึงยิ่งทำให้อุปสรรคในการทำธุรกิจยิ่งยากขึ้น  ทำให้ในปี 2559 นี้ "นกสกู๊ต" ทำรายได้ที่  3,900 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 100 ล้านบาท  


cr:NokScoot Facebook 

ปี 2560 กลับมามีรายได้ 

        ในปี 2560 "นกสกู๊ต" มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากปี 2559 เป็นประมาณ 5.6 พันล้านบาท โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปี 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 37 มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 87 จากร้อยละ 79 ในปี 2559  เนื่องจาก ICAO ได้ปลดธงแดงให้กับไทย เมื่อช่วงเดือนตุลาคม  ทำให้นกสกู๊ตสามารถเดินหน้าตามแผนการขยายเส้นทางตามที่วางแผนไว้ได้   รวมทั้งยังได้เพิ่มเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-200 ลำที่ 4 เข้ามาในฝูงบินอีกด้วย  และยังนับเป็นปีที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด ตั้งแต่สายการบินเปิดให้บริการมาในปี 2557เลยทีเดียว 

ปี 2561 ผู้โดยสารยังเพิ่มขึ้น  

        ตลาดสายการบินโลว์คอสต์มีการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น และราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2557  รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9 หรือราว 1.77 พันล้านบาท  โดยในไตรมาสแรกปี 2561  นกสกู๊ตได้เพิ่มอัตราค่าโดยสารขึ้นประมาณร้อยละ 10.20 รวมถึงเพิ่มจำนวนเที่ยวบินจาก 684 ถึง 883 เที่ยวบิน   ทำให้ภาพรวม ปี 2561 มีผู้โดยสารเดินทางไปกับนกสกู๊ตจำนวน 1.88 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เทียบกับปีก่อน ซึ่งภายในปีนี้ นกสกู๊ตจะขยายเส้นทางในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดียเพิ่ม


cr:NokScoot Facebook 

ปี 2562 ส่อแววขาดทุนต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันพุ่งขึ้น

        ในปีนี้ผลการดำเนินงาน "นกสกู๊ต"  ไตรมาส 1/2562 ขาดทุนสุทธิ 109 ล้านบาท พลิกจากที่มีกำไรสุทธิ 37 ล้านบาทในปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนนี้ และส่อแววที่สถานการณ์นี้จะยังต่อเนื่องไปอีกเรื่อยๆ  เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงปลายปี ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก การประกาศปิดประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์ของไวรัสทำให้ส่งผลกระทบอย่างหนัก แทบทุกสายการบิน เพราะต้องหยุดบินทุกเส้นทางแม้แต่เส้นทางบินในประเทศก็ตาม 


cr:NokScoot Facebook 

ปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ลากยาวมาถึงกลางปี 

        ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นอะไรที่หนักหนาของทุกสายการบิน ด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขและควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 หลายประเทศยังไม่มีการเปิดประเทศ และยังไม่สามารถตอบได้ว่าโควิด-19 จะหายไปเมื่อไหร่ ทำให้ "นกสกู๊ต"ไม่อาจยื้อเวลาต่อไปได้ จำเป็นต้องประกาศยุติกิจการไปเมื่อวานนี้ นั่นเอง 


cr:NokScoot Facebook 

แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อ "นกแอร์"? 

        กระบวนต่างๆตามกฎหมายของสายการบินนกสกู๊ต ก็จะมีการดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการชดเชยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้อง  แต่ก็ยังมีพนักงานจำนวนหนึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการกระบวนการชำระบัญชีให้เสร็จสมบูรณ์ และพนักงานกลุ่มนี้จะได้รับการชดเชยอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

        ขณะที่ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ทำธุรกิจสายการบิน "นกแอร์" ซึ่งมีส่วนถือหุ้นในบริษัทและธุรกิจสายการบินนกสกู๊ตนั้น  นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่ส่งผลกระทบกับแผนการบินและการให้บริการของสายการบิน "นกแอร์" แต่อย่างใด  โดย "นกแอร์" ยังจะให้บริการการบินในเส้นทางบินภายในประเทศตามปกติ  ส่วนการบินระหว่างประเทศนั้น เมื่อรัฐบาลแต่ละประเทศได้มีการอนุญาตให้มีการทำการบินได้ " นกแอร์ "ก็จะกลับมาให้บริการในเส้นทางฮิโรชิมา ย่างกุ้ง และโฮจิมินห์ตามเดิมในทันที


cr:NokScoot Facebook 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

- ไปต่อไม่ไหว! "นกสกู๊ต" ประกาศเลิกกิจการหลังขาดทุนต่อเนื่อง

-"นกสกู๊ต" ประกาศโละเครื่องบิน-ลดพนักงาน ยืนยันไม่ยุติการบิน

-นกแอร์พร้อมรับผิดชอบครอบครัวผู้เสียชีวิตเครื่องบินชนรถลาก

-“นกแอร์” ได้สิทธิการบินญี่ปุ่นประเดิมเส้นทาง “ฮิโรชิม่า” 18 ธ.ค.นี้




เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง