ภาษี “ทรัมป์” เริ่มแผลงฤทธิ์เศรษฐกิจโลก

มาตรการกำแพงภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กำลังกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่ขับเคลื่อนอย่างเสรีและคาดการณ์ได้มาตลอดหลายทศวรรษ
สะท้อนจากบริษัทข้ามชาติจำนวนมากที่ต่างปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดเป้ายอดขายสินค้า ทบทวนแผนธุรกิจที่เคยใช้อยู่ ไปจนถึงแนวโน้มเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่าง “อีเลคโทรลักซ์” (Electrolux) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติสวีเดน ได้ปรับลดแนวโน้มผลประกอบการลง ส่วนแบรนด์รถยนต์ “วอลโว่” (Volvo) รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ “โลจิเทค” (Logitech) และผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ “ดิอาจิโอ” (Diageo) ต่างก็ยกเลิกเป้าหมายการเติบโตเนื่องจากความไม่แน่นอน
ส่วนกิจกรรมการผลิตในโรงงานจีนเดือนเมษายนหดตัวมากสุดในรอบ 16 เดือน เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าของโรงงานในอังกฤษเมื่อเดือนที่แล้วก็หดตัวในอัตรามากสุดในรอบเกือบ 5 ปี
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นในเยอรมนี ซึ่งเน้นการส่งออกเป็นหลัก อาจเกิดจากการที่โรงงานเร่งส่งออกสินค้าก่อนที่ภาษีจะมีผลบังคับใช้ หมายความว่าตัวเลขจะสะท้อนความจริงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
“อิซาเบล มาเตโอซี ลาโก” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก BNP พาริบาส์ ระบุว่า นโยบายภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น ขณะที่บทสรุปของกำแพงภาษีอาจใช้เวลาและอยู่ในระดับสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ประกาศภาษีตอบโต้ถ้วนหน้า (reciprocal tariff) ต่อ 185 เขตเศรษฐกิจไว้ที่ระดับพื้นฐานร้อยละ 10 แต่ยังมีภาษีเฉพาะอุตสาหกรรมอีก อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม และรถยนต์
แต่กำแพงภาษีก็อาจสร้างโอกาสให้กับบางเขตเศรษฐกิจ อย่างกรณี “อินเดีย” ที่การผลิตขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน โดยอินเดียเผชิญกับภาษีศุลกากรในอัตราที่ต่ำกว่าจีนมาก ทำให้เป็นทางเลือกที่อาจแทนที่จีนได้ในระยะสั้น