รีเซต

โคโรนาไวรัส : ทำไมการเว้นระยะห่างทางสังคมจึงสกัดการระบาดของโรคได้

โคโรนาไวรัส : ทำไมการเว้นระยะห่างทางสังคมจึงสกัดการระบาดของโรคได้
ข่าวสด
26 มีนาคม 2563 ( 21:36 )
93

โคโรนาไวรัส : ทำไมการเว้นระยะห่างทางสังคมจึงสกัดการระบาดของโรคได้

ระหว่างปี ค.ศ.1918 - 1920 ซึ่งเป็นสมัยปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไข้หวัดสเปนได้แพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลก โดยมียอดผู้เสียชีวิตสูงถึง 50-100 ล้านคน นับว่าเป็นหนึ่งในโรคระบาดที่รุนแรงมากที่สุดในโลก

ย้อนเวลากลับไปช่วงเดือนกันยายน 1918 หลายเมืองในสหรัฐอเมริกากำลังตระเตรียมจัดพาเหรดเพื่อโฆษณาขาย "พันธบัตรเสรีภาพ" เพื่อนำเงินไปทำสงครามในยุโรป

ผู้บริหารของเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย เองก็ตัดสินใจเดินหน้าจัดงานแ แม้มีทหารกว่า 600 นาย ในเมืองป่วยเป็นไข้หวัดสเปนแล้ว

ส่วนที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ทางการได้ยกเลิกงานดังกล่าวแล้วบังคับใช้มาตรการหลายข้อเพื่อจำกัดการรวมกลุ่มกันของผู้คนจำนวนมากแทน

เวลาผ่านไปหนึ่งเดือน ยอดผู้เสียชีวิตในเมืองแรกสูงกว่า 10,000 คน ส่วนในเมืองที่สองนั้นไม่ถึง 700 ราย

Getty Images

แน่นอนว่างานพาเหรดไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อตัวเลขเหล่านี้ แต่บทเรียนจากอดีตครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นชัดเจนถึงประโยชน์ของมาตรการ "ระยะห่างทางสังคม" หรือ social distancing ที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคระบาดได้

"การเว้นระยะห่างทางสังคมหมายถึงการป้องกันไม่ให้คนสองคนขึ้นไปมีปฏิสัมพันธ์กันทางกายภาพอย่างใกล้ชิดเพื่อยับยั้งหรือหยุดการระบาดของโรค" อรินดัม พสุ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาระบาดวิทยาและอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอร์รี นิวซีแลนด์ อธิบาย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ช่วงปี 1918 บรรดาเมืองต่าง ๆ ในอเมริกาที่นำมาตรการดังกล่าวมาใช้ เช่น ห้ามชุมนุมในที่สาธารณะ ปิดโรงภาพยนตร์ สถานศึกษา และโบสถ์ มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดสเปนน้อยกว่าอย่างมาก

ผ่านไปกว่าหนึ่งศตวรรษ มนุษยชาติต้องเผชิญหน้ากับการระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 จากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แม้ว่าสิ่งที่แตกต่างไปจากในอดีต เช่น ประชากรโลกที่มากกว่าถึง 6,000 ล้านคน การเว้นระยะห่างทางสังคมยังคงเป็นหนึ่งในวิธีต่อสู้กับโรคระบาดที่ดีที่สุดอยู่เช่นเดิม

"ขณะนี้เรายังไม่มีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แถมเราก็ยังไม่ทราบด้วยว่ายาขนานใดจะสามารถขจัดโรคโควิด-19 ให้หายขาดได้ด้วย" พสุกล่าว "เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือการป้องกัน"

หลายประเทศทั่วโลกกำลังบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาด้วยการสั่งห้ามมิให้ประชาชนรวมกลุ่มกัน ปิดพื้นที่สาธารณะ ร้านค้า บาร์ และสถานศึกษา บางแห่งปิดเมืองทั้งหมดและให้ผู้คนอยู่แต่ภายในบ้านเท่านั้น

Getty Images

การเว้นระยะห่างทางสังคมนั้นแตกต่างจาก "การกักกันตัวเอง" (self-isolation) และ กักโรค (quarantine) ที่เหมาะสำหรับใช้ป้องกันผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงที่เคยใกล้ชิดกับบุคคลเหล่านั้นไปแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น เพราะการเว้นระยะห่างทางสังคมต้องการหยุดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในหมู่ประชากรนั่นเอง

ทั้งนี้ นักระบาดวิทยาประเมินว่า ไวรัสโคโรนาครั้งนี้มีอัตราการติดเชื้อ (reproduction number) ประมาณ 1.4 - 3.9 หมายความว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 หนึ่งรายส่งต่อเชื้อสู่ผู้อื่นได้ประมาณ 2 - 3 คน นั่นเอง ซึ่งนับว่าสูงกว่าไข้หวัดสเปนที่ 1.8 และไข้หวัดใหญ่ที่ 1.06 - 3.4

ระยะเวลาที่น่ากังวล คือ ช่วงไวรัสฟักตัว (incubation period) ประมาณ 5 - 14 วัน ที่แม้ว่าร่างกายจะไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ ให้เห็นชัดเจนแต่ก็สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้หากยังสัมผัสและติดต่อกันใกล้ชิด ภายในหนึ่งเดือน จำนวนผู้ป่วยคนเดียวอาจเพิ่มขึ้นเป็น 244 คน และ 59,604 คน ภายในสองเดือน

งานวิจัยที่ศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน พบว่า การอยู่บ้านและรักษาระยะห่างทางสังคมช่วยชะลอการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องข้างต้นได้จริง โดยตัวเลขอัตราการติดเชื้อจาก 2.35 ลงลดจนเกือบถึง 1 นั่นหมายความว่า ผู้ป่วยหนึ่งคนแพร่เชื้อต่อให้คนเดียวเท่านั้นเอง ยิ่งใช้มาตรการนี้กับศูนย์กลางการระบาดได้เร็วเท่าไหร่ อัตราการแพร่เชื้อก็น้อยลงเท่านั้น

นอกจากนี้ ระยะห่างทางสังคมยังช่วยยับยั้งไม่ให้ตัวเลขผู้ป่วยสูงเกินขีดจำกัดที่โรงพยาบาลจะรับไหวในคราวเดียวอีกด้วย หรือที่เรียกกันว่า "ลดระดับความชันของเส้นโค้ง" (flatten the curve) นั่นเอง

Getty Images
ผู้โดยสารในรถไฟในปาเล็มบัง อินโดนีเซีย นั่งห่างกันตามจุดที่ระบุไว้

ในอังกฤษ นักวิทยาศาสตร์จากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน เสนอทางสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนาไว้ 2 ประการ คือ

1. การบรรเทาความเสียหาย โดยให้บุคคลกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ แยกตัวเองออก แล้วกักโรคผู้ป่วยที่มีอาการ

2. การยับยั้ง โดยให้ประชาชนทุกคนรักษาระยะห่างทางสังคม ส่วนผู้ป่วยและครอบครัวก็กักตัวที่บ้าน

งานวิจัยยังระบุอีกด้วยว่า หากอังกฤษไม่ทำอะไรเลย อาจมีประชาชนกว่า 510,000 คน ที่ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในอเมริกาอาจมากถึง 2.2 ล้านราย และแม้จะนำวิธีการแรกมาบังคับใช้ ก็จะมีผู้เสียชีวิตหลักพันและยังสร้างภาระงานให้ล้นระบบสาธารณสุขอีกหลายเท่าด้วย

ทางด้านประเทศอิตาลี ปัจจัยด้านประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก ประกอบกับวัฒนธรรมที่สมาชิกหลายรุ่นในครอบครัวมักอาศัยอยู่ร่วมกัน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 พุ่งสูงนั่นเอง สำหรับคนชราอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 14.8% แต่สำหรับคนอายุ 40 - 49 ตัวเลขอยู่ที่ 0.4% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การรักษาระยะห่างทางสังคมก็ช่วยลดความรุนแรงของสถานการณ์ลงเช่นกัน โดยสังเกตได้จากมาตรการที่แตกต่างกันระหว่างสองเมืองในอิตาลี

เมืองโลดิ มีผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 21 ก.พ. เพียงสองวันถัดมา ทางการสั่งจำกัดการเดินทาง ปิดสถานศึกษา งดจัดงานกีฬา และกิจกรรมต่าง ๆ

ส่วนเมืองเบอร์กาโมพบผู้ติดเชื้อในวันที่ 23 ก.พ. แต่คำสั่งปิดเมืองเพิ่งถูกประกาศหลังเวลาล่วงเลยมากว่าสองสัปดาห์

ในวันที่ 7 มี.ค. ทั้งสองเมืองของอิตาลีนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 800 คน และมีคนชราอายุ 65 ปีขึ้นไปในจำนวนใกล้เคียงกัน ผ่านมา 7 วัน ตัวเลขของเบอร์กาโมกลับทวีคูณขึ้นเป็น 2,300 ราย แต่ด้านเมืองโลดิเพิ่มขึ้นน้อยกว่า คือ 1,100 ราย

EPA

เจนนิเฟอร์ ดาวน์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดผู้ศึกษาการแพร่ระบาดในอิตาลีข้างต้นกล่าวว่า "อาจมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่แตกต่างกันไปตามบริบท เช่น เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อวงกว้างเป็นพิเศษ (super-spreading) หรือเครือข่ายทางสังคมที่ต่างกัน"

"แต่พอพิจารณาปัจจัยพื้นฐานที่เหมือนกัน รวมกับมาตรการแทรกแซงที่เข้มงวดของเมืองโลดิแล้ว เรามองว่าประสิทธิผลของวิธีการดังกล่าวนั้นเป็นที่ประจักษ์อย่างมาก" ศาสตราจารย์ดาวน์จึงสรุปว่า การรักษาระยะห่างทางสังคมนั้นให้ผลดี

แม้การห่างไกลจากเพื่อน ๆ และครอบครัวจะไม่ใช่เรื่องง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งการระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัส เนื่องจากในระยะยาวแล้วอาจก่อให้เกิดโรคหัวใจ ซึมเศร้า และสูญเสียความทรงจำ

แต่การรักษาระยะห่างทางสังคมไม่ได้หมายรวมถึงการตัดขาดการติดต่อสื่อสารทุกช่องทาง แตกต่างจากในปี 1918 เทคโนโลยียุคปัจจุบันมอบสื่อสังคมออนไลน์ การพูดคุยผ่านแอปพลิเคชัน และโทรศัพท์เห็นหน้าค่าตากันทางวิดีโอ ดังนั้นเพื่อให้คนที่เรารักปลอดภัย การห่างไกลกันเพียงทางกายก็อาจคุ้มค่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง