รีเซต

‘NEOM’ ซาอุฯ หวังพลิกฟื้นทะเลทรายเป็นสวนผัก ด้วยเรือนกระจกดัตช์

‘NEOM’ ซาอุฯ หวังพลิกฟื้นทะเลทรายเป็นสวนผัก ด้วยเรือนกระจกดัตช์
TNN ช่อง16
27 สิงหาคม 2566 ( 09:57 )
83
‘NEOM’ ซาอุฯ หวังพลิกฟื้นทะเลทรายเป็นสวนผัก ด้วยเรือนกระจกดัตช์

หลังจากที่ได้เปิดตัว นีออม (NEOM) โครงการเมืองอัจฉริยะ ครบทั้ง 4 พื้นที่หลักไปแล้ว ล่าสุด ซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศความร่วมมือกับแวน เดอ โฮเวิน (Van Der Hoeven) บริษัทผลิตเรือนกระจกสัญชาติดัตช์ ในความพยายามที่จะสร้างสวนสีเขียวชอุ่มกลางทะเลทรายที่แห้งแล้งของซาอุดีอาระเบีย ภายใต้เป้าหมายของโครงการเมืองแห่งอนาคตนี้ที่หวังจะเป็นดั่งโอเอซิสแห่งชีวิตที่มีความยั่งยืนด้วยตัวเองและบ้านให้กับผู้คนนับล้าน ความมั่นคงด้านอาหารจึงกลายเป็นโจทย์สําคัญสําหรับเหล่านักวางแผนเมือง


พื้นที่สีเขียวที่ว่า อยู่ในเรือนกระจก 2 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 110,000 ตารางเมตร บริเวณชานเมืองนีออม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและอากาศที่เหมาะสมกับการผลิตอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


ทั้งนี้เมืองอัจฉริยะนีออม ประกอบด้วยมหานคร 4 แห่ง ได้แก่ เมืองเดอะไลน์ (The Line) , เกาะซินดาลาห์ (Sindalah) , เมืองท่า ออกเซกอน (Oxagon) และเมืองหุบเขาโทรจานา (Trojena) โดยปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างเมืองเดอะไลน์แล้ว ซึ่งลักษณะเป็นเมืองกำแพงยาวตลอดเส้นทาง 170 กิโลเมตร รองรับประชากร 9 ล้านคน พร้อมระบบพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% 


การร่วมมือกันระหว่างซาอุดีอาระเบียและบริษัทผลิตเรือนกระจกจากเนเธอร์แลนด์นี้ถือว่าเป็นการเดินหมากที่ชาญฉลาดสำหรับประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศแบบทะเลทราย เพราะวิทยาการทางการเกษตรที่ก้าวหน้าของเนเธอร์แลนด์ เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ซึ่งมีขนาด 41,850 ตารางกิโลเมตร หรือราว 1 ใน 12 ของพื้นที่ประเทศไทยนี้ กลับเป็นผู้ส่งออกทางเกษตรกรรมรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น 


หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า พื้นดินมากกว่าครึ่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ถูกใช้เพื่อการเกษตร โดยเกือบ 97 ตารางกิโลเมตร ถูกปกคลุมด้วยเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาพื้นที่ที่เล็กกว่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อเทียบกับการทำฟาร์มแบบดั้งเดิม


เทคโนโลยีเรือนกระจกของดัตช์นี้ใช้ทรัพยากรในการทำการเกษตรที่น้อยกว่า โดยตัวอย่างหนึ่งที่วอชิงตันโพสต์กล่าวถึงคือ ในการปลูกมะเขือเทศประมาณครึ่งกิโลกรัมการเกษตรของเนเธอร์แลนด์ใช้น้ําเพียงครึ่งแกลลอน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกใช้น้ำมากกว่า 28 แกลลอน


เทคโนโลยีนีจึงสามารถสร้างประโยชน์ให้กับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งประสบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำ จนประเทศต้องอาศัยการนําเข้าอาหารเป็นหลักได้


นอกจากนี้ บริษัทเคยมีประสบการณ์การทำงานในตะวันออกกลางแล้ว อาทิ เรือนกระจกสำหรับเพาะชำมะเขือเทศขนาด 110,000 ตารางเมตร ในสหรัฐอาหรับเอมิเรต ซึ่งนี่ถือเป็นเรือนกระจกสมัยใหม่ขนาดใหญ่แห่งแรกในภูมิภาคดังกล่าว สิ่งเหล่านี้ทำให้ความตั้งใจในการสร้างเมืองแห่งอนาคต ที่มีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ของซาอุดีอาระเบียมีความหวังมากขึ้น


ที่มาของข้อมูล Designboom

ที่มาของรูปภาพ NEOM 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง