PRIME เจรจาคู่ค้ารุกงานEPC ลุยโซลาร์ฟาร์มตุนกำลังผลิต
ทันหุ้น – สู้โควิด- PRIME ส่งซิกเจรจาพาร์ตเนอร์ชิงงานEPC ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา พร้อมติดเครื่องลุยลงทุนโซลาร์ฟาร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง มั่นใจสิ้นปี2563 กำลังผลิตรวมแตะ 350 เมกะวัตต์ ขณะที่รายได้ปี 2563เข้าเป้าแตะ 1 พันล้านบาท
นายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIME เปิดเผยว่า ธุรกิจงานวางระบบ (EPC) ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาในปี 2563 มีแนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างโดดเด่น เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับทางคู่ค้าที่มีศักยภาพหลายราย ส่งผลให้ในขณะนี้บริษัทมีดีลในมือมากกว่า 30 โครงการ คิดเป็นมูลค่ามากว่า 200-300 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะทยอยได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในช่วงที่เหลือของปี2563 เป็นต้นไป
จ่อซื้อโครงการใหม่
นอกจากนี้ งาน EPC ยังมีโครงการที่มีศักยภาพซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาอีกกว่า 15 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทยอยรับรู้ได้ทั้งหมดไม่เกินไตรมาส 1/2564ขณะเดียวกันจากการศึกษาและหาพันธมิตรเพื่อขยายขีดความสามารถในการรับงานต่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ในตอนนี้บริษัทได้มีการทำสัญญากับโรงเรียนในไต้หวันแล้ว รวม 13 แห่ง กำลังผลิตติดตั้งราว 6.2 MW เบื้องต้นบริษัทกำลังจะได้ PPA แบบ FiT 20 ปี คาดทยอยแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ (COD) ทั้งหมดภายในเดือนเมษายน 2564
พร้อมกันนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มแห่งใหม่เพิ่มเติม โดยมีความเป็นไปได้ทั้งในรูปแบบของการลงทุนเอง (Brown field) และการเข้าซื้อโครงการที่มีการพัฒนาและ COD แล้ว (Green Field) ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาผู้ประกอบการในประเทศอีกกว่า 12เมกะวัตต์ คาดทยอยได้ข้อสรุปในระยะถัดไป
ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดรวม 287 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถเดินเคลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้แล้ว 179 MW และอยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง 108 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย จำนวน 132.3 เมกะวัตต์, ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 68.2 เมกะวัตต์ และไต้หวัน จำนวน 8.5 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังผลิต 78 เมกะวัตต์ การก่อสร้างคืบหน้าตามแผน คาด COD ในไตรมาส 2/2565
เป้ากำลังผลิต 350MW
จากปัจจัยข้างต้นจะช่วยสนับสนุนให้กำลังผลิตไฟฟ้ารวมและติดตั้งขยับเป็น 350 เมกะวัตต์ ในสิ้นปี 2563 และแตะ 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2568 อย่างไรก็ดี ในปี 2563 บริษัทเชื่อว่ารายได้คงเป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ราว 1,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ราว 658.01 ล้านบาท หลักๆ เป็นผลมาจากธุรกิจการรับรู้รายรับจากการขายไฟฟ้าในโครงการมากขึ้น และธุรกิจ EPC ได้รับงานใหม่เข้ามาเพิ่มเติม โดยปัจจัยเหล่านี้น่าจะช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมธุรกิจเป็นไปตามที่วางไว้ได้
สำหรับแนวโน้มผลงานครึ่งหลังปี 2563บริษัทคาดว่าจะเห็นการเติบโตต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกที่มีรายได้ราว 360 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจจะมีรายได้จากการรับรู้การขายไฟฟ้าในโครงการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับจะมีแรงสนับสนุนจากธุรกิจงานวางระบบ (EPC) โครงการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาของภาคเอกชนเข้ามาเสริม ประกอบกับเมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้มีการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ที่จังหวัดหนองคาย ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Adder 8 บาทต่อหน่วย ด้วยกำลังผลิตตามสัญญา 1 MW และยังมีสัญญาคงเหลืออีก 15 ปี