ปรับกลยุทธ์ซื้อหุ้นยุโรป รับนโยบายการเงินเปลี่ยนทิศ
เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 ซึ่งถือเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤต COVID-19 โดย 9 เดือนแรกของปีนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยรวมยังให้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจสำหรับนักลงทุน
แต่สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หลังเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ก็คือ การที่บรรดาธนาคารกลางหลักของโลกเริ่มออกมาส่งสัญญาณที่จะกลับมาดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดอีกครั้ง เริ่มต้นจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ได้ส่งสัญญาณกับตลาดมาอย่างต่อเนื่องว่าจะเริ่มประกาศปรับลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ลงภายในปีนี้และส่งสัญญาณที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 เป็นต้นไป
ขณะที่ทางฝั่งยุโรปที่เพิ่งเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการเปิดเมือง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ได้ออกมาส่งสัญญาณชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการ PEPP (Pandemic Emergency Purchase Program) ในไตรมาส 4 ปีนี้ ก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะครบกำหนดลงในเดือน มี.ค. ปี 2022
โดยทาง ECB มองว่าเศรษฐกิจยุโรปได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ECB ยังไม่แสดงท่าทีต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด เนื่องจากมองว่าอัตราเงินเฟ้อของยุโรปน่าจะยังไม่กลับเข้าสู่เป้าหมายระยะยาวที่ระดับ 2% ภายในช่วงสองปีข้างหน้า
คำถามคือ เมื่อนโยบายการเงินโลกของโลกกำลัง “เปลี่ยนทิศ” กลับมาเข้มงวดขึ้น นักลงทุนควรปรับกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นอย่างไร ?
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ชี้ว่า หากย้อนกลับไปถึงปี 2009 ซึ่งมีช่วงเวลาที่นโยบายการเงินของ Fed มีทิศทางที่เข้มงวดขึ้น (Tightening Cycles) ทั้งหมด 7 ครั้ง พบว่า
การลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Markets) เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือยุโรป จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า การลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) เช่น ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเอเชียหรือกลุ่มละตินอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น ช่วง Taper Tantrum ในปี 2013 และช่วงที่ Fed มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2016
หากพิจารณา ณ ระดับราคาหุ้นปัจจุบัน สำหรับตลาดหุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่า ตลาดหุ้นยุโรปมีความน่าสนใจในการลงทุนมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งในแง่ของความถูก-แพง และอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน
โดยปัจจุบันหุ้นยุโรปกำลังซื้อ-ขายในระดับที่ถูกกว่าหุ้นสหรัฐฯ มากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ที่ระดับ Fwd PE เพียง 17 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่า Fwd PE ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นมาสูงถึง 22 เท่า หรือคิดเป็นส่วนลด (Discount) จากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มากถึงราว 27% โดยครั้งล่าสุดที่ภาพแบบนี้เกิดขึ้น จะต้องย้อนกลับไปถึงช่วงวิกฤต Subprime ปี 2008 เลยทีเดียว
นอกจากนี้หากมองไปถึงการเติบโตของกำไรในปี 2022 ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังมีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรจากบรรดานักวิเคราะห์อยู่ที่ระดับ 7% ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงจะถูกปรับลดประมาณการณ์ลงมาจาก 9% เหลือเพียง 2% เท่านั้น หากแผนการปรับขึ้นภาษีของประธานาธิบดี Biden สามารถผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้
สำหรับธีมการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปในระยะสั้นยังคงเป็นหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภายหลังจากที่หลายประเทศในภูมิภาคมีการ Re-opening โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับโมเมนตัมเชิงบวกจาก Pent-up Demand ในยุโรปก็คือ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและกลุ่มท่องเที่ยว
ขณะที่ภาพระยะกลางถึงระยะยาว การลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปก็ถือว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากยุโรปมีบริษัทประเภท New Economy ระดับโลกกระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมที่อยู่ใน Megatrends ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปด้วยนโยบายที่ต้องการผลักดันให้ยุโรปกลายเป็น Green Economy ภายในปี 2050
โดยยุโรปถือเป็นภูมิภาคที่มีการผลักดันนโยบายด้าน Climate Change ที่มากที่สุดในโลก สะท้อนจากการที่บริษัทด้านพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลกเป็นบริษัทจากยุโรปถึง 8 บริษัท
ทั้งนี้ยุโรปยังมีบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ทั้งในกลุ่มธุรกิจ Software, Semiconductors, Payments
และ E-commerce ซึ่งกำลังเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตที่สูงและได้รับอานิสงส์จากการเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของยุโรป
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดและกลุ่มเทคโนโลยีของยุโรปยังเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุน EU Recovery Fund ที่มีมูลค่าสูงถึง 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัล
กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในตลาดหุ้นยุโรป ควรเป็นกลยุทธ์แบบ Bottom-up เพื่อที่จะเฟ้นหาบริษัทในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตล้อไปกับ Megatrends มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนเหนือคู่แข่งและราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 ซึ่งอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่นโยบายการเงินของโลกกำลังจะกลับทิศจากแบบผ่อนคลายไปสู่แบบเข้มงวด เรายังคงให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Develop ed Markets) มากกว่าตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets)
โดยแนะนำนักลงทุนให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนและมี Valuation ของหุ้นที่ยังไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ