รีเซต

เหตุใด “แอ่งตะกอนนันไก” ถึงอันตราย? ทำความเข้าใจการเกิด “อภิมหาแผ่นดินไหว”

เหตุใด “แอ่งตะกอนนันไก” ถึงอันตราย? ทำความเข้าใจการเกิด “อภิมหาแผ่นดินไหว”
TNN ช่อง16
5 กรกฎาคม 2568 ( 10:00 )
12

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งเพจมิตรเอิร์ธ ให้สัมภาษณ์กับ TNN EARTH ถึงกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณ “แอ่งตะกอนนันไก” ซึ่งเป็นร่องน้ำลึกทอดตัวยาวตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น 

สำหรับประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก 3 แผ่นด้วยกัน นั่นคือแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก และแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ โดยแผ่นเปลือกโลกที่ใหญ่ที่สุดคือแผ่นแปซิฟิกและเป็นแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนที่เร็วที่สุด โดยข้อมูลจากธรณีวิทยาพบว่าแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกกำลังเคลื่อนที่ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือและมุดตัวลงเกิดเป็นเขตมุดตัวแปซิฟิก ซึ่งบริเวณริมแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกตั้งแต่ใต้โตเกียวลงไปเป็นที่ตั้งของ “แอ่งตะกอนนันไก” หรือ “ร่องลึกนันไก” โดยปกติแล้วแผ่นเปลือกโลกสามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้เมื่อสะสมพลังงานและเกิดการเคลื่อนตัว 

นักธรณีวิทยาได้ศึกษาพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณ “แอ่งตะกอนนันไก” จากเครื่องมือการตรวจวัดและบันทึกการเกิดแผ่นดินไหวในอดีตพบว่า แอ่งตะกอนนันไกเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่มีรูปแบบ และมีแนวโน้มเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ทุก 100-200 ปี โดยแผ่นดินไหวจากแอ่งตะกอนนันไกครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 1946 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในคาบเกี่ยวการอุบัติซ้ำตามข้อมูลเชิงสถิติ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับความน่าจะเป็นของการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาดความรุนแรง 7 ขึ้นไป ภายในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากเดิม 75% เป็น 82% พร้อมทั้งเตรียมแผนซักซ้อมเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ดร.สันติระบุว่า มีการประเมินสถานการณ์แผ่นดินไหวด้วยแบบจำลองในกรณีเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 9 พบว่าพื้นที่บริเวณขอบแผ่นแปซิฟิกทางตะวันออกเกือบทั้งหมดจะได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือน รวมถึงตัวเลขคาดการณ์ผู้เสียชีวิตสูงถึง 230,000 คน แต่ปัจจุบันมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผู้เสียชีวิตลงเหลือ 100,000 คน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นมีการวางแผนในการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทั้งการสร้างอาคารที่แข็งแรง พร้อมรองและช่วยเหลือผู้อพยพหากเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิขึ้น 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง