จีนเปิดเผยครั้งแรก! อัตราผลข้างเคียงจากวัคซีนต่ำ อาการผิดปกติรุนแรงพบได้ยาก
China: ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน กล่าวว่า อัตราการเกิดผลข้างเคียง หลังเข้ารับวัคซีน อยู่ที่ประมาณ 12 เคส ต่อทุก ๆ 100,000 โดส ซึ่งถือว่าต่ำมาก นับเป็นครั้งแรกที่จีนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอาการข้างเคียงของผู้รับวัคซีนโควิด-19
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (CDC) รายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (28 พฤษภาคม) มีผู้ป่วยจากอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนเพียง 31,500 ราย จากการฉีดวัคซีนไปทั้งหมด 265 ล้านโดส นับแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ถึงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วน พบผลข้างเคียง 12 รายในทุก ๆ 1 แสนโดสที่ฉีดไป
“อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หลังรับวัคซีนโควิด-19 นั้น ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของวัคซีนอื่น ๆ ที่มีการใช้นับแต่ปี 2019” และเสริมว่า การประเมินในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าอาการข้างเคียงที่ผิดปกติรุนแรงนั้น พบได้ยากมาก ดังนั้น ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีมากกว่าความเสี่ยง
CDC ระบุว่า อาการทั่วไปไม่รุนแรง เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด คิดเป็นประมาณ 80% ของเคสทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอาการไข้ มีอุณหภูมิสูงกว่า 38.6 องศาเซลเซียส อาการอ่อนเพลีย และอาการบวม ส่วนที่เหลือคือ อาการผื่นแพ้ยา หน้าบวม และอาการแพ้อย่างรุนแรง
การฉีดวัคซีนในประเทศจีนเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากตอนแรกประชาชนลังเลที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่การรณรงค์ที่มีขึ้นในเดือนนี้ ทำให้มีการรับวัคซีนไปทั้งสิ้นกว่า 585 ล้านโดส
วัคซีนที่จีนใช้ ประกอบไปด้วยวัคซีน 7 ชนิดที่พัฒนาในประเทศจีน รวมถึงวัคซีน Sinopharm ของรัฐ ซึ่งองค์การอนามัยโลกอนุมัติ สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
รายงานของ CDC มีขึ้นสองวัน หลังจากบริษัท Sinopharm เผยแพร่ผลจากการทดลองวัคซีน ระยะที่ 3 โดยผู้เข้าร่วมการทดลอง 40,411 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงอายุ 18-59 ปี ถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มเท่า ๆ กัน เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งแบ่งเป็นวัคซีนจากบริษัทย่อยในเครือ Sinopharm จากที่ปักกิ่ง อู่ฮั่น และยาหลอก
ข้อมูลจากการทดลอง แสดงให้เห็นว่า วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทย่อยในปักกิ่ง ของ Sinopharm สามารถป้องกันโควิด-19 ของผู้ที่แสดงอาการได้ 78.7% แต่อัตรานี้ลดลงเหลือ 73.5% ในเคสของคนที่ไม่แสดงอาการ โดยมีการบันทึกอาการผู้ติดเชื้อทั้งหมด 142 ราย เป็นกลุ่มวัคซีนปักกิ่ง 21 ราย กลุ่มวัคซีนอู่ฮั่น 26 ราย และกลุ่มยาหลอก 95 ราย
มีเพียงสองรายที่อาการรุนแรงเท่านั้น ที่ได้รับการระบุว่าอยู่ในกลุ่มยาหลอก ซึ่งไม่พบในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน โดยนักวิจัย กล่าวว่า ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสามารถสรุปอะไรได้
“ผลที่ได้จากรายงานนี้ ควรตีความด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากยังมีผู้ป่วยรุนแรงไม่มากนัก ส่วนข้อสรุปเกี่ยวกับการดูแลป้องกันในเคสที่มีอาการรุนแรง ยังไม่สามารถทำได้”
เทียบกับในสหราชอาณาจักร ผู้ที่ได้รับวัคซีน สามารถรายงานอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน ไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแล แม้ว่าบุคคลดังกล่าว อาจไม่แน่ใจว่าเกิดจากการเข้ารับวัคซีนหรือไม่ก็ตาม
โดยจนถึง 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา หน่วยงานด้านสุขภาพของอังกฤษ ได้วิเคราะห์รายงาน เกือบ 247,000 ฉบับ เกี่ยวกับผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่น่าสงสัย หลังจากใช้วัคซีนทั้งสิ้นกว่า 58.5 ล้านโดส