รีเซต

สวทช.จ่อทดลองวัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูกในมนุษย์ปลายปีนี้

สวทช.จ่อทดลองวัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูกในมนุษย์ปลายปีนี้
TNN ช่อง16
10 สิงหาคม 2564 ( 13:03 )
38

วันนี้ (10 ส.ค.64) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยีไบโอเทค วิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้เผยคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูกออกมาได้ 2 ชนิด คือ วัคซีนชนิด Adenovirus มีการแสดงออกของโปรตีนสไปค์ ออกแบบโดยการพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอย รูปแบบนี้น่าจะเป็นวัคซีนที่ใกล้เคียงกับหลายสถาบัน และวัคซีนชนิด Influenza virus ที่มีการแสดงออกของโปรตีน RBD ของสไปค์

โดยวัคซีนชนิดอะดีโนไวรัส ทีม สวทช. ได้ผ่านการทดสอบในหนูทดลองที่ฉีดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว พบว่าหนูทดลองนอกจากไม่มีอาการป่วย ยังมีน้ำหนักขึ้นสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามอย่างเห็นได้ชัด

ผลการทดสอบความปลอดภัยไม่มีปัญหา จึงเตรียมเดินหน้าการวิจัยทดสอบวัคซีนนี้ในอาสาสมัครมนุษย์ รูปแบบที่สร้างจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ระยะแรกปลายปี 2564 และต่อเนื่องระยะ 2 ในเดือนมีนาคม 2565 หากได้ผลดีจะสามารถผลิตใช้ได้ประมาณกลางปี 2565 นี้

"ทางทีมได้พยายามนำไปทดสอบในสัตว์ทดลอง เพื่อดูว่าสัตว์ทดลองที่ได้รับการฉีดพ่นด้วยจมูก จะมีอาการป่วยหรือตายไหม โดยพบว่าผลออกมาค่อนข้างดี และทำให้เชื่อว่าวัคซีนตัวนี้ เมื่อฉีดเข้าจมูกมันจะสร้างภูมิคุ้มกันที่อยู่บริเวณจมูกและทำให้เชื้อติดไม่ได้ หรือติดน้อยมากๆ และทำให้ไม่มีโรครุนแรงหรือเชื้อลงปอดได้ 

ตัววัคซีนที่เราพัฒนามาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นวัคซีนที่พัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดในอู่ฮั่น ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาที่ผ่านมา ทาง สวทช.ก็พัฒนาสายพันธุ์เดลต้ามาแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งเรามีวัคซีนฉีดพ่นจมูกแบบสายพันธุ์เดลต้า พร้อมที่จะเอามาใช้ทดสอบในมนุษย์

ทั้งนี้ โดยหลักการที่จะนำชนิดเดลต้ามาทดสอบในมนุษย์มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า เราจะต้องไปเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะว่าเป็นสายพันธุ์เดลต้า ต้องมาทดสอบในสัตว์ทดลองเสียเวลากันไปอีกเป็นปีหรือไม่ ทั้งๆ ที่มันเป็นวัคซีนรูปแบบเดียวกัน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงแค่เป็นสายพันธุ์อู่ฮั่นกับสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งก็คือ SARS-CoV-2 เหมือนกัน ไวรัสตัวเดียวกัน ถ้าเกิดว่าเราสามารถที่จะย่นระยะเวลา ปลายปีนี้จะเปิดอาสาสมัครได้รับการฉีดพ่นจมูก โดยวัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนที่เป็นบูสเตอร์ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาสาสมัครที่ไม่เคยฉีดวัคซีนเท่านั้น แต่คนที่เคยฉีดวัคซีนไปแล้ว สามารถเข้าร่วมทดลองได้" ดร.อนันต์ กล่าว

นอกจากนี้ เรื่องการผลิตในระดับอุตสาหกรรมนั้น สวทช.เตรียมร่วมมือกับบริษัทคินเจน ไบโอเทค จำกัด จากประเทศเหลาหลีใต้ ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง