รีเซต

กินเจไม่ได้บุญ! "อาหารเจปลอม" พบเนื้อสัตว์ปนเปื้อน แนะวิธีเช็ก เจจริง เจปลอม

กินเจไม่ได้บุญ! "อาหารเจปลอม" พบเนื้อสัตว์ปนเปื้อน แนะวิธีเช็ก เจจริง เจปลอม
Ingonn
9 ตุลาคม 2564 ( 15:32 )
611
กินเจไม่ได้บุญ! "อาหารเจปลอม" พบเนื้อสัตว์ปนเปื้อน แนะวิธีเช็ก เจจริง เจปลอม

ในช่วงเทศกาลกินเจ หลายร้านค้าเริ่มเปิดขาย "อาหารเจ" กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอาหารที่ทำจากธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ รวมทั้งเต้าหู้ โปรตีนเกษตร แต่บางร้านค้าก็มีเมนูเลียนแบบเนื้อสัตว์ โดยใช้โปรตีนที่ไม่สมบูรณ์ทำมาจากแป้ง เช่น หมูเจ ไก่เจ เป็ดเจ และบางครั้งพวกอาหารเจเลียนแบบเนื้อสัตว์ มักผสม DNA จากเนื้อสัตว์จริงๆ ปนเปื้อนมาด้วย ทำให้อาหารเจ ไม่ใช่อาหารเจอีกต่อไป ซึ่งหากมีการตรวจพบหรือการหลอกลวงก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้

 

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจเฝ้าระวังอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลกินเจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2564 ได้มีการเฝ้าระวังทั้งปี โดยแบ่งอาหารเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ อาหารประเภทเส้น และผักผลไม้สดจากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลรวมจำนวน 93 ตัวอย่าง พบอาหารเจปลอมเป็นจำนวนมาก ดังนี้

 

 

อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์

เช่น เป็ดเจ หมูสามชั้นเจ ลูกชิ้น ปลาเค็ม ไส้กรอก จำนวน 57 ตัวอย่าง ตรวจพบ ดีเอ็นเอ (DNA) ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน จำนวน 10 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 17.5

 

 

อาหารประเภทเส้น

เช่น วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ จำนวน 15 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบ กรดซอร์บิก ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารประเภทนี้ แต่ตรวจพบกรดเบนโซอิก จำนวน 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 60 ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 304-855 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่มีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด

 

ทั้งนี้กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก เป็นวัตถุกันเสียที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ มีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอันตรายได้สำหรับผู้แพ้สารนี้ เช่น เกิดผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

 

 

ผักและผลไม้สด

เช่น คะน้า ขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว แครอท มะเขือเทศ ส้ม แอปเปิ้ล มันญี่ปุ่น จำนวน 21 ตัวอย่าง ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในส้มและแอปเปิ้ล จำนวน 5 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 23.8 

 

 

สำรวจก่อนเจอ "อาหารเจปลอม"

1.เลือกซื้อจากร้านอาหารที่เข้าร่วมในเทศกาลกินเจ เนื่องจากผ่านการตรวจสอบการปนเปื้อนแล้ว หากร้านทั่วไปควรเลือกซื้อจากร้านที่คุ้นเคยกันหรือสังเกตจากสัญลักษณ์ธงสีเหลือง

 

2.ถ้าสังเกตพบว่า อาหารที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์มีลักษณะของสีและกลิ่นรวมถึงรสชาติที่ผิดแปลกไปก็สามารถส่งตรวจสอบการปนเปื้อนของอาหารได้

 

3.เลือกซื้อจากร้านที่มีป้ายสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste)

 

4.ควรเลือกบริโภคอาหารเจที่ปรุงประกอบจากอาหารแห้ง ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้งแทนก็จะได้โปรตีนทดแทนครบคุณค่าทางโภชนาการ โดยก่อนที่จะนำมาปรุงประกอบอาหารควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชต่าง ๆ และควรปรุงสุกทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค

 

 

ขายอาหารเจปลอม มีโทษ

1. ผลิตและจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท

 

2. หากผลการตรวจวิเคราะห์พบว่ามีดีเอ็นเอจำเพาะของเนื้อสัตว์ จะเข้าข่ายเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้อื่นให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่  6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท

 

 

หากประชาชนพบเบาะแสต้องสงสัยว่าที่ใดจำหน่ายอาหารเจปลอมปนเนื้อสัตว์ สามารถแจ้งมายังสายด่วน อย.1556 หรือร้องเรียนที่ บก.ปคบ. ตู้ปณ. 459 ปณศ. สามเสนใน พญาไท กทม. 1040

 

 

 

 

ข้อมูลจาก รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล , กรมอนามัย , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง