ด่วน! ราชกิจจาฯ ประกาศมาตรการคุมโควิด กทม.-ปริมณฑล 4 จังหวัดใต้ มีผล 28 มิ.ย.นี้
วันนี้ (27 มิ.ย.64) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ซึ่งลงนาม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา โดยสรุปดังนี้
- การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีคำสั่งปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอก
สถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทาง และเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน
- มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
(1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่ จัดนิทรรศการโรงแรม ทำอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ตลาดตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ตลาดโต้รุ่งหรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันและมีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องงดื่ม ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
(2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. โดยให้งดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร และเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในพื้นที่พักคอย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหมุนเวียนอากาศ และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(3) โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง
(4) กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนร่วมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค
- กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทางตามแนวทางที่ศปก.ศบค. กำหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน โดยกำหนดรายละเอียดแยกตามพื้นที่ดังนี้
(1) เส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรองการเดินทางให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นและยับยั้งการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด โดยบุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดตามข้อนี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ
(2) เส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) การตั้งจุดตรวจด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อทำงานข้ามเขตจังหวัดให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยให้ผ่านเข้าออกได้เฉพาะแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเพื่อการทำงานข้ามจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทาง ทั้งนี้ สำหรับการเดินทางข้ามเขตจังหวัดของประชาชนทั่วไป ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นเพื่อมุ่งเน้นความปลอด
(3) เส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจาก (1) และ (2) การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรองการเดินทางให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ในกรณีที่พบผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโดยการคุมไว้สังเกต แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่พำนัก หรือสถานที่ที่ทางราชการกำหนดหรือตามหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขหรือศบค. กำหนด
- มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้คงพิจารณาดำเนินมาตรการปฏิบัติงาน นอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดในช่วงระยะเวลานี้เพื่อลดการเดินทางและการติดต่อสัมผัสระหว่าง บุคคล โดยเฉพาะหน่วยงาน หรือสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทั้งนี้ ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564
- การงดจัดกิจกรรมทางสังคม ให้ประชาชนงดจัดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะการสังสรรค์ จัดเลี้ยงหรืองานรื่นเริง ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อลดการติดต่อสัมผัสกันระหว่างบุคคลอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 30 วัน เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมตามที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว โดยขอให้เป็นไปเพื่อความเหมาะสมและมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.64 เป็นต้นไป