รีเซต

เปิดสถิติ “แบลงค์กัน” นำมาก่อเหตุสูงขึ้น

เปิดสถิติ “แบลงค์กัน” นำมาก่อเหตุสูงขึ้น
TNN ช่อง16
6 ตุลาคม 2566 ( 20:36 )
110

พลตำรวจโทภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า “แบลงค์กัน” คือ ปืนจำลอง หรือโมเดลปืน ที่จำลองรูปแบบมาจากปืนจริง ไม่ได้เป็นอาวุธในทางกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย สามารถนำเข้าโดยผ่านขั้นตอนทางศุลกากร และในประเทศไทยมีแบลงค์กันจำนวนหลายพันกระบอก จำเป็นต้องหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมแบลงค์กัน


จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าตัวเลขคดีที่ใช้แบลงค์กันก่อเหตุทั่วประเทศ ปี 2563 กว่า 200 คดี , ปี 2564 ประมาณ 500 คดี, ปี 2565 กว่า 1,000 คดี และตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีคดีที่ใช้การใช้ในการก่อเหตุแล้วกว่า 700 คดี ซึ่งสถิติการใช้แบลงค์กันก่อเหตุสูงขึ้นทุกปี


จ่อค้น 2,300 เป้าหมาย แหล่งอาวุธปืน


ทั้งนี้ ตำรวจเตรียมเปิดแผนปฏิบัติการระดมกวาดล้างอาชญากรรมอาวุธปืน ซึ่งมีเป้าหมายกว่า 2,300 แห่งทั่วประเทศ ทั้งแหล่งรับซื้ออาวุธปืน โรงงานแหล่งผลิต และแหล่งดัดแปลงแบลงค์กัน โดยตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) จะเป็นผู้นำข้อมูลเป้าหมายส่งให้กับตำรวจภูธรภาค และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการระดมดวาดล้างตามแผนต่อไป


เปิดสถิติ “เด็ก-เยาวชน” กระทำผิด


อีกประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมาก คือ เด็กที่กระทำความผิดแล้วจะต้องรับโทษอย่างไร ซึ่งข้อมูลการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2565 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ 12,195 คน และเกินกว่าครึ่งของผู้กระทำความผิดอยู่ในระดับมัธยมศึกษา รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา นอกนั้นเป็นการศึกษานอกระบบ


สำหรับคดีที่พบมากที่สุดเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 40 ของคดีทั้งหมด รองลงมาเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ร้อยละ 14.99 และความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ร้อยละ 13.90


ส่วนการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ  เด็กอายุ 12 - 15 ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลอาจส่งไปคุมประพฤติ  เด็กอายุ 15 - 18 ปี หากศาลตัดสินลงโทษทางอาญา จะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง  เด็ก 18 - 20 ปี ศาลตัดสินลงโทษทางอาญาแบบผู้ใหญ่ แต่อาจลดโทษให้หนึ่งในสาม หรือกึ่งหนึ่ง


นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ระบุว่า พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง ต้องรับผิดชอบโทษทางแพ่งร่วมด้วย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองได้ทำหน้าที่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง