เฉลยหลักการ 4 มาตรการคุมอาวุธ ให้กระทบผู้ครอบครองถูกกม.น้อยที่สุด
จากการที่กระทรวงมหาดไทย ออกมาตรการคุมปืนและอาวุธปืน 4 มาตรการล่าสุด โดยมีการแสดงความห่วงใยว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์ แก่ผู้มีอาวุธปืนที่ครอบครองไว้อย่างถูกกฎหมาย วันนี้ 8 ตุลาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ ประเทศไทย มีปืนที่ครอบครองโดยประชาชนกว่า 10 ล้านกระบอก เป็นจำนวนมากที่สุดในอาเซียน และอันดันที่ 13 ของโลก ติดอันดับกลุ่มบน ของประเทศที่มีประชาชนครอบครองปืนมากที่สุด กล่าวคือ ในประชาชน 100 คน มีการพกปืนถึง 15 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ นอกจากนั้น การเกิดขึ้นของสิ่งเทียมอาวุธปืนเช่นแบลงค์กัน ก็ต้องกลับมาอยู่ในการควบคุม จากข้อเท็จจริง ว่าสามารถดัดแปลงได้ง่าย เพื่อใช้เป็นอาวุธ สังหารชีวิตประชาชนได้
การที่สุจริตชน มีปืนเพื่อปกป้องตนเองนั้นเอง เป็นเรื่องที่รับฟังได้ แต่อย่าลืมว่า ยังมีสุจริตชนอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้มีปืนไว้ในครอบครอง คนกลุ่มนี้ กำลังหวาดระแวง กับการอยู่ในสังคมที่มีปืนมากมายเต็มไปหมด อย่าลืมว่า ปืนเป็นอาวุธร้ายแรง ยิ่งมีปืนมาก ความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนยิ่งมาก โอกาสสูญเสียยิ่งมาก
กระทรวงมหาดไทย มีบทบาทในการขึ้นทะเบียนปืน เพื่อสร้างความรับผิดชอบแก่ผู้ที่มีปืนไว้ในครอบครองอย่างถูกกฎหมาย จำเป็นต้องใช้อำนาจตรงนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน จากอาวุธปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืน ด้วยการเข้ามาเข้มงวด กวดขันเรื่องการขึ้นทะเบียนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืน เพื่อชะลออัตราการขยายตัวของอาวุธ โดยเป็นการใช้อำนาจเท่าที่ทางกระทรวงมหาดไทยมีอยู่
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวช่วงท้ายว่า “แน่นอนว่า บุคคลที่ครอบครองปืนไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น มาตรการต่างๆ ที่ออกมา แทบไม่ได้กระทบกับสุจริตชนกลุ่มนี้เลย สำหรับปืนเถื่อนนั้น ทางกระทรวงมหาดไทย ได้ขอความร่วมมือกับ DES เพื่อปิดช่องทางออนไลน์ ในการซื้อขายอาวุธเถื่อน ผิดกฎหมาย และประสานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เร่งแก้ปัญหาปืนเถื่อนแล้ว ขอย้ำว่า การจัดระเบียบอาวุธปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืนนั้น เป็นภารกิจที่ทุกฝ่ายกำลังร่วมแรงร่วมใจกัน กระทรวงมหาดไทย ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเต็มที่ เท่าที่จะทำได้ และเชื่อว่าทุกฝ่าย กำลังช่วยกันอย่างสุดความสามารถเพื่อความผาสุขของประชาชน”