รีเซต

คาดส่งออกโต4%! แต่โควิดยังเป็นปัจจัยเสี่ยง สรท. จี้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าระวาง-ขาดตู้คอนเทนเนอร์

คาดส่งออกโต4%! แต่โควิดยังเป็นปัจจัยเสี่ยง สรท. จี้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าระวาง-ขาดตู้คอนเทนเนอร์
ข่าวสด
2 กุมภาพันธ์ 2564 ( 15:56 )
38
คาดส่งออกโต4%! แต่โควิดยังเป็นปัจจัยเสี่ยง สรท. จี้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าระวาง-ขาดตู้คอนเทนเนอร์

สรท.จี้รัฐบาลแก้ปัญหาส่งออกผลกระทบโควิด ค่าระวาง ขาดตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งปียังคงเป้าบวก 4% ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

คาดส่งออกโต4% - น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3-4% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การกลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นกลาง เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกก่อนกระทบการระบาดครั้งใหม่ อีกทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home จากอานิสงส์ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ คือ การระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศที่ยังมีสถานการณ์รุนแรง เห็นได้จากการขยายประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศคู่ค้าหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลง การจ้างงานของประชาชน และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง รวมทั้งปัญหา International Logistics เช่น ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และระวางเรือไม่เพียงพอ อัตราค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น

 

รวมไปถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะยาว (QE) และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐ และจีน เน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น โดยเริ่มการออกนโยบายที่ส่งเสริมให้พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศและลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (Onshore/Re-shore)

 

น.ส.กัณญภัค กล่าวอีกว่า เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออก สรท. มีข้อเสนอแนะ มาตรการเร่งด่วน ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปกว่าคู่แข่งที่สำคัญ เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ/อุดหนุนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น

 

มาตรการระยะยาว รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนแรงงานที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการลดกำลังการผลิต และยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เร่งรัดการพัฒนาไปประเทศไปสู่ Digital economy ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อ/ซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ เร่งรัดเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง