รีเซต

'บีซีพีจี' ตั้งเอดีบี หา 2 หมื่นล. ปั้นโรงไฟฟ้าลมใหญ่สุดในอาเซียน

'บีซีพีจี' ตั้งเอดีบี หา 2 หมื่นล. ปั้นโรงไฟฟ้าลมใหญ่สุดในอาเซียน
มติชน
16 ธันวาคม 2564 ( 18:57 )
63

ข่าววันนี้ IEAD บริษัทร่วมทุนของไทย ผู้ดำเนินโครงการ “มอนสูน” (Monsoon) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกที่มีการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน ระหว่าง สปป. ลาว และเวียดนาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แต่งตั้ง ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี ให้เป็นผู้แทนในการจัดหาเงินกู้จำนวนรวมประมาณ 650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือเทียบเท่าประมาณ 22,000 ล้านบาท) ให้กับโครงการฯ ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศหลายแห่ง ได้แสดงความสนใจร่วมปล่อยกู้ด้วยกว่า 3 เท่าตัว ทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดให้มีโครงสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อจัดหาเงินทุนที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ มากที่สุด

 

“มอนสูน” โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพลังงานสะอาดที่ผลิตได้ตลอดอายุของโครงการฯ คาดว่ามีปริมาณเทียบเท่ากับการลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 35 ล้านตัน ซึ่งจะช่วยผลักดันเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) สอดคล้องกับแนวทางการประชุม COP26 ที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นโครงการที่สะท้อนถึงความสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติของ สปป.ลาว ที่มีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะ พลังงานลม ที่เอื้อต่อการผลิตพลังงานสะอาดและมีความเสถียร ที่สามารถหล่อเลี้ยงการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมให้ สปป. ลาว เป็นแบตเตอรี่ของเอเชียตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

โครงการ “มอนสูน”ดำเนินการโดย บริษัท อิมแพค เอนเนอร์ยี่ เอเซีย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (Impact Energy Asia Development Limited) หรือ IEAD ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิมแพค วินด์ อินเวสเม้นท์ จำกัด (Impact Wind Investment Limited) และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ ใน สปป.ลาว เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ ไปยังเมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยขณะนี้โครงการฯ อยู่ระหว่างการพัฒนา และจัดหาเงินทุน คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568

 

ทั้งนี้ IEAD และการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Vietnam Electricity -EVN) ได้ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจาก “โครงการมอนสูน” เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

 

นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทร่วมทุนของ IEAD เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา เอดีบี ได้ให้การสบับสนุนโครงการต่างๆ ของบีซีพีจีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่นำร่องใช้นวัตกรรมกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Energy Storage System) แห่งแรกในประเทศไทย การแต่งตั้ง เอดีบี ให้เป็นผู้แทนในการจัดหาเงินทุน และร่วมสนับสนุนทางการเงินของโครงการมอนสูนในครั้งนี้ ทำให้เชื่อมั่นว่าเราจะสามารถจัดหาเงินทุนได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ มากที่สุด

 

“นอกจากเอดีบีแล้ว ในเบื้องต้น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (Multilateral Development Banks) และธนาคารพาณิชย์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้ตอบรับและแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมกับเอดีบี เพื่อปล่อยกู้ให้กับโครงการฯ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อเสนอจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะสรุปและคัดเลือกสถาบันการเงินได้ภายใน ไตรมาส 1 ปี 2565” นายบัณฑิตกล่าว

 

อิมแพค วินด์ อินเวสเม้นท์ หรือ IEAD เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อิมแพค วินด์ อินเวสเม้นท์ จำกัด และ บีพีซีจี โดยถือหุ้นร้อยละ 55 และ 45 ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัท อิมแพค วินด์ อินเวสเม้นท์ จำกัด มีผู้ถือหุ้น 2 บริษัท คือ บริษัท ไดมอนด์ เยนเนอเรติ้ง เอเซีย จำกัด (Diamond Generating Asia Limited) เป็นบริษัทในเครือของ มิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น (Mitsubishi Corporation) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ถือหุ้นร้อยละ 43 และบริษัทในเครือของ IES ซึ่งเป็นผู้พัฒนาพลังงานทดแทนระดับภูมิภาคของเอกชนไทย ถือหุ้นร้อยละ 57

 

“โครงการ “มอนสูน” เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เริ่มต้นพัฒนาโดยกลุ่มอิมแพค เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (Impact Electrons Siam Company Limited – IES) ซึ่งได้ทุ่มเทพัฒนาโครงการมอนสูนให้เกิดขึ้นจริงตามวิสัยทัศน์ของผู้ถือหุ้น และได้กลายเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงระดับโลก บีซีพีจีมั่นใจว่าโครงการมอนสูน จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนนพื้นที่ และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา “นายบัณฑิตกล่าวทิ้งท้าย

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง