รีเซต

แผ่นดินไหวเมียนมา “เนปิดอว์” พังพินาศ อาจต้องย้ายเมืองหลวง

แผ่นดินไหวเมียนมา “เนปิดอว์” พังพินาศ อาจต้องย้ายเมืองหลวง
TNN ช่อง16
22 เมษายน 2568 ( 12:00 )
65

เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเมียนมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางการยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการประเมินความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 ส่งผลให้ยังไม่สามารถเริ่มกระบวนการบูรณะซ่อมแซมอาคารที่ได้รับผลกระทบได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีอาคารกว่า 600 หลังในกรุงเนปิดอว์ ไม่สามารถอยู่อาศัยได้


รายงานจาก สำนักข่าวบีบีซี ระบุว่า อาคารสำนักงานของรัฐบาลในกรุงเนปิดอว์ได้รับความเสียหายมากถึง ร้อยละ 70 ของทั้งหมด ส่งผลให้ทางการต้องย้ายที่ตั้งของบางกระทรวงกลับไปยัง นครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า และอยู่ห่างออกไปประมาณ 366 กิโลเมตร โดยกระทรวงที่ย้ายรวมถึง กระทรวงการต่างประเทศ และ กระทรวงการท่องเที่ยว เนื่องจากการก่อสร้างสำนักงานใหม่อาจต้องใช้เวลานานหลายปี

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ให้สัมภาษณ์ในที่ประชุมเจ้าหน้าที่รัฐว่า สาเหตุสำคัญที่อาคารหลายแห่งพังถล่ม เป็นเพราะตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน ซึ่งไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี โดยในอนาคตอาคารราชการหรือสำนักงานใหม่ทุกแห่งจะต้องผ่านการ ทดสอบชั้นดิน และถูกออกแบบให้ ทนแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ได้


โฆษกรัฐบาลเมียนมา รายงานล่าสุดว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3,735 ราย บาดเจ็บ 5,108 ราย และยังสูญหายอีก 120 ราย ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งฟื้นฟูพื้นที่ พร้อมวางแผนจ่ายเงินชดเชยให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และเจ้าของบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย

จนถึงขณะนี้ รัฐบาลเมียนมาได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย

  • เครื่องบินช่วยเหลือ 145 ลำ จาก 25 ประเทศ
  • รถยนต์บรรทุก 23 คัน จากจีน
  • เรือ 5 ลำ จากอินเดีย
  • เรือ 1 ลำ จากบังกลาเทศ
  • เจ้าหน้าที่กู้ภัย 2,094 คน
  • สิ่งของบรรเทาทุกข์กว่า 2,514 ตัน
  • อุปกรณ์ช่วยเหลืออีกกว่า 1,197 ตัน

กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาเมียนมา รายงานว่า นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้เกิด อาฟเตอร์ช็อกแล้วรวม 624 ครั้ง โดยในวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา เพียงวันเดียวเกิดแผ่นดินไหวถึง 2 ครั้ง มีความรุนแรง ขนาด 3.2 และ 4.3 ตามลำดับ ภายในระยะเวลาห่างกันเพียง 2 ชั่วโมง


ด้าน ประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ รายงานว่าเกิดแผ่นดินไหวใน จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน รวม 4 ครั้ง โดยเหตุการณ์ที่แรงที่สุดเกิดขึ้นที่ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ขนาด 2.4 ลึกจากผิวดินเพียง 3 กิโลเมตร แต่ ยังไม่มีรายงานความเสียหาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง