รีเซต

ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด ไม่ Walk in แต่เป็น On-site แตกต่างกันยังไง

ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด ไม่ Walk in แต่เป็น On-site แตกต่างกันยังไง
Ingonn
21 พฤษภาคม 2564 ( 14:48 )
4.1K
ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด ไม่ Walk in แต่เป็น On-site แตกต่างกันยังไง

ถ้าไม่งงจะงงมาก คล้ายๆกับคำว่า การลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด ไม่ Walk in แต่เป็น On-site ที่เกิดจากการสื่อสารที่เข้าใจผิดของภาครัฐและกระทรวงสาธารณสุข โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องการเน้นย้ำให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ปรับแผนจาก Walk in ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามจุดต่างๆ ที่จังหวัดจัดไว้ให้ โดยไม่ต้องจองล่วงหน้า เปลี่ยนเป็น On-site Registration แทน 

 

 


วันนี้ TrueID จึงขอมาสรุปให้ว่าระหว่าง Walk in และ On-site Registration แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน และอัปเดตวิธีการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนล่าสุดมีกี่รูปแบบ อะไรบ้าง

 

 

 

ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด แบบ Walk in กับ On-site Registration แตกต่างกันอย่างไร ?

 

รูปแบบ Walk in คือ การให้ประชาชนทั่วไป เดินทางไปฉีดวัคซีนตามจุดต่างๆ ที่จังหวัดจัดไว้ให้ โดยไม่ต้องจองล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างสะดวกสบาย และสามารถแก้ปัญหาที่อยู่ไม่ตรงกับบัตรประชาชน มอบอำนาจไปยังแต่ละจังหวัด ให้บริหารจุดฉีดด้วยตัวเอง โดยเน้นให้จุดบริการแบบ walk-in เป็นที่โล่ง หากจังหวัดไหนมีความพร้อมก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที โดยตั้งเป้าให้แต่ละจังหวัดจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรในพื้นที่

 

 

รูปแบบ On-site Registration เป็นการลงทะเบียน ณ จุดบริการ จะมีระบบรองรับและแจ้งประชาชนเมื่อเดินทางไปลงทะเบียนว่า มีวัคซีนเพียงพอ ณ จุดบริการในวันนั้นหรือไม่ หากพร้อมฉีดแต่วัคซีนไม่พอในวันนั้นก็สามารถทำการลงทะเบียนเพื่อนัดฉีดในวันอื่นได้ โดยไม่ต้องเสียเวลามารอฉีดอีกในวันต่อไป แต่สามารถมาฉีดได้เลยตามที่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ช่องทางนี้เป็นการบริการเสริม ส่วนบริการหลักยังเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมเหมือนเดิม

 

 

 

ทำไมต้องปรับจาก Walk in เป็น On-site Registration


การลงทะเบียนฉีดวัคซีน ณ จุดบริการ หรือ On-site Registration เป็นหนึ่งใน 3 ช่องทางการกระจายวัคซีนให้เข้าถึงและครอบคลุมประชาชนมากที่สุด ช่องทางนี้ปรับจากการเรียกว่า วอร์คอิน (Walk in) เนื่องจากหากใช้คำว่าวอร์คอินแล้ว อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าทุกคนที่เดินทางไปจะได้ฉีดในวันนั้น จนอาจเกิดปัญหาตามมาได้ ขณะที่การแพร่ระบาดและความรุนแรงนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม จึงจำเป็นต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

 

 

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ยังไง

 

วันที่ 12 พ.ค.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนในรูปแบบวอล์ค อิน (Walk in) ว่าขณะนี้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีความต้องการฉีดวัคซีนแต่ไม่สามารถจองคิวผ่านระบบหมอพร้อมได้ ดังนั้นเราจะต้องมีการตั้งจุดบริการสำหรับวอล์ค อิน เพื่อการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนให้มากที่สุด

 

 

วันที่ 13 พ.ค.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการวอล์กอินฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า การวอล์กอินฉีดวัคซีน จะเริ่มได้เมื่อมีวัคซีนจำนวนมากคือ ช่วง มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะมีวัคซีนหลายล้านโดส ส่วนการเข้าถึงวัคซีนจะมีการนัดผ่านระบบหมอพร้อม ผ่าน อสม. หรือนัดรวมกลุ่มเข้ามาฉีด และการวอล์กอินฉีดวัคซีนเพื่อความสะดวก จึงต้องมีการเตรียมสถานที่ฉีดที่รองรับคนจำนวนมากได้

 

 

วันที่ 14 พ.ค.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ย้ำวอล์คอินฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ดีเดย์ 1 มิถุนายนนี้

 

 

วันที่ 16 พ.ค.2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดสถานีกลางบางซื่อ เตรียมเปิดให้วอล์กอินฉีดวัคซีนโควิด-19

 

 

วันที่ 18 พ.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงเรื่องวัคซีนวอล์คอินว่า ไม่อยากให้ใช้รูปแบบวอล์คอิน เพราะหากประชาชนแห่กันไปพร้อมกันที่จุดเดียว จะเกิดความชุลมุนขึ้นได้ ในต่างจังหวัดไม่ค่อยมีปัญหาอะไร และขอให้หน่วยงานไปปรับปรุงและแก้ปัญหาแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม เพื่อให้พร้อมใช้ อย่าให้เกิดปัญหาประชาชนลงทะเบียนไม่ได้ อยากให้หยุดพูดเรื่องวอล์คอินไปก่อนจนกว่าจะได้มาตรการที่ชัดเจน เดี๋ยวคนวอล์คอินเข้าไปแล้วไม่ได้ฉีดจะโวยวายเอา หากวัคซีนเพียงพอหรือเหลือค่อยมาจัดการกันใหม่ เรื่องวอลค์อินละเอียดอ่อน ต้องจัดการดี ๆ

 

 

วันที่ 19 พ.ค.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานีกลางบางซื่อ ไม่ใช่จุดให้บริการ walk in ส่วนกรณีที่ทางนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ไม่ให้ใช้คำว่า "walk in" ให้เปลี่ยนมาใช้ "ออนไซด์" และลงทะเบียนหน้างานนั้น นายอนุทิน ระบุว่า ต้องดูว่าในแต่ละวันมีวัคซีนเหลือเท่าไร จะใช้คำว่าอะไรก็แล้วแต่ วัคซีนจะเหลือไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุขส่งวัคซีนออกไปจ้องใช้ให้ครบทุกโดส ซึ่งนายกรัฐมนตรี อาจจะขอดูการฉีดวัคซีนในระบบหลักก่อน คือ ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม หรือผู้ที่ลงทะเบียนตามระบบต่างๆ

 

 

 


กทม. นำร่องทดลองจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล


สำหรับในพื้นที่ กทม. จะกระจายจุดบริการวัคซีนทั้งในโรงพยาบาล สถานพยาบาล และหน่วยงาน 231 แห่ง สถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลอีก 25 แห่ง โดยเตรียมความพร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะเดินทางมาสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ได้เปิดทดลองระบบแล้ว 4 แห่ง คือ 


1.เซ็นทรัล ลาดพร้าว 


2.สามย่านมิตรทาวน์ 


3.เดอะมอลล์ บางกะปิ 


4.บิ๊กซี บางบอน

 

 

 


อัปเดต 3 ช่องทางกระจายฉีดวัคซีน รับมือโควิด-19

 

1.ลงทะเบียนหมอพร้อม ประกอบด้วย LINE และ App หมอพร้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคลงทะเบียนแล้ว และจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปอายุต่ำกว่า 60 ปี ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 31 พ.ค.นี้ 

 

 

2) การลงทะเบียน ณ จุดบริการ หรือ On-site Registration ช่องทางนี้ปรับจากการเรียกว่า วอร์คอิน (Walk in) โดยจุดบริการจะมีระบบรองรับและแจ้งประชาชนเมื่อเดินทางไปลงทะเบียนว่า มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ ณ จุดบริการในวันนั้นหรือไม่ หากมีความพร้อมสามารถฉีดได้เลย หากไม่เพียงพอสามารถลงทะเบียนเพื่อนัดฉีดในวันอื่นได้ 

 

 

3) การจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเฉพาะ เน้นจัดสรรวัคซีนไปยังประชาชนกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ หรือมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต เช่น บุคลากรทางการแพทย์ อสม. ทหาร ตำรวจ ครู อาจารย์ ผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์สาธารณะ พนักงานรถไฟและรถไฟฟ้า พนักงานโรงแรม คณะทูต นักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษาที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ คนพิการ ฯลฯ 

 

สำหรับช่องทางที่ 3 ประชาชนสามารถติดต่อนัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรือ อสม. ได้โดยตรง หรือหากเป็นกลุ่มบุคคลหรือสมาคมที่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน ก็สามารถยื่นเรื่องต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาจัดสรรวัคซีนและจัดเตรียมสถานที่ฉีดต่อไป

 

 

 


ไม่แน่การลงทะเบียนฉีดวัคซีนแบบ Walk in อาจกลับมา


นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า ถ้าหากในแต่ละจุดที่บริการ มีวัคซีนเพียงพอในแต่ละวัน และมีวัคซีนสำรอง เนื่องจากมีคนที่นัดแล้วแต่ไม่ได้มาฉีดตามนัดอยู่บ้าง รัฐบาลก็มีแผนในการเปิดการฉีดวัคซีนแบบวอร์คอินได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและความรุนแรงนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งมีการระบาดในหลายคลัสเตอร์ในหลายพื้นที และเป็นสาเหตุให้นายกรัฐมนตรีมีความจำเป็นต้องตัดสินใจปรับแผนเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 

 

 


ม.33 เตรียมตัวฉีดวัคซีน ตั้งเป้าปูพรมในกทม.อย่างน้อย 5 ล้านคน ใน 2 เดือน


นายกรัฐมนตรียังมีนโยบายให้เตรียมการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และภาคเอกชนจะร่วมมือกัน สนับสนุนให้บุคลากรกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม การผลิต และภาคบริการ ฟื้นตัวได้โดยเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายระดมฉีดวัคซีนแบบปูพรมในกทม. ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคน หรือ 70% ของประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายใน 2 เดือนนี้ (มิ.ย.-ก.ค.64) และฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั้งประเทศให้ครบ 50 ล้านคนภายในปี 2564

 

 

 

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก เพจไทยคู่ฟ้า , thaigov 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง