สธ.ปรับแผนวัคซีนโควิดสู่ จว. มอบอำนาจจัดสรรหมอพร้อม-วอล์ค อิน-รพ. คู่ขนานกลยุทธ์ปูพรมฉีด
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ให้ประชาชนในรูปแบบ วอล์ค อิน (Walk in) ว่า ขณะนี้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีความต้องการฉีดวัคซีนแต่ไม่สามารถจองคิวผ่านระบบหมอพร้อมได้ ดังนั้น เราจะต้องมีการตั้งจุดบริการสำหรับวอล์ค อิน เพื่อการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนให้มากที่สุด
นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคจึงต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางปฏิบัติ หน่วยหลักการคือ 1.กรมควบคุมโรคจะระบุยอดเป้าหมายของการฉีดแต่ละจังหวัดให้ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย ร้อยละ 70 ซึ่งจะฉีดแตกต่างกันตามสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด เช่น ขณะนี้มีการระบาดในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เราจะกระจายวัคซีนไปให้มากที่สุดเพื่อควบคุมการระบาด ส่วนจังหวัดอื่นก็จะกระจายไปให้ครอบคลุม ร้อยละ 70 ของประชากรตามลำดับ ซึ่งหากจังหวัดไหนมีความพร้อมก็สามารถเริ่มดำเนินการได้เลย
“ซึ่งการฉีดวัคซีนปูพรมจะฉีดในผู้ที่มีความสมัครใจให้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดให้มากที่สุด เบื้องต้นขอให้รับวัคซีนตามข้อบ่งชี้ และยืนยันว่าวัคซีนที่เรานำมาฉีดนั้นมีความปลอดภัย ขอให้ประชาชนเข้าร่วมรับวัคซีนให้มากที่สุด” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า 2.นโยบายวอล์ค อิน จะสอดคล้องกับนโยบายปูพรม เต้องขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุด ซึ่งการฉีดวัคซีนมีหลายช่องทาง อาทิ 1.สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น จะทราบวันและเวลาที่ชัดเจน ไม่ต้องนั่งรอ เป็นช่องทางที่มีความสะดวกมากที่สุด 2.สถานพยาบาลที่มีรายชื่อผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว ก็จะนัดวันเวลาเข้ามาฉีด 3.สำหรับผู้ที่ไม่มีประวัติการรักษาโรค แต่มีความจำเป็นและต้องการฉีดวัคซีน เช่น คนขับรถสาธารณะ คนขับรถแท็กซี่ ฯลฯ ในกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ระบบการวอล์ค อิน ฉีด ที่จังหวัดจะเป็นผู้บริหารจุดบริการฉีด ดำเนินการในรายละเอียด และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ เช่น จุดฉีด จำนวนต่อวัน
“รายละเอียดต่างๆ ให้ประชาชนติดตามประกาศในแต่ละจังหวัด แต่สัดส่วนบริหารวัคซีน เบื้องต้นที่คุยกัน เรายกตัวอย่างสูตร 30-50-20 คือ ลงทะเบียนผ่านระบบ ร้อยละ 30 สถานพยาบาลกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ร้อยละ 50 และจุดวอล์ค อิน ร้อยละ 20 เป็นต้น ซึ่งสูตรเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ กำกับดูแล” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนแบบวอล์ค อิน เหมาะกับสถานที่เปิดโล่ง เช่นที่เราพิจารณาจะเปิดสถานีกลางบางซื่อ จุฬาลงกรณ์ที่จะเปิดในอาคารจามจุรีสแควร์ รวมถึงในวันนี้ ที่นายกฯ จะไปเปิดที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว พรุ่งนี้ (13 พฤษภาคม 2564) เปิดที่อาคารจามจุรีสแควร์ และวันที่ 14 พฤษภาคม เปิดที่เดอะมอลล์บางกะปิ
นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อสำคัญที่สุดของการฉีดวัคซีนคือ การบันทึกข้อมูล ผลข้างเคียงหลังรับวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการฉีดจากหน่วยบริการแบบไหน แต่ทุกคนต้องมีรายชื่อเข้าในระบบติดตาม
นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า เราได้ประสานกับกรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล เพื่อเชิญกลุ่มเด็กพิเศษ ผู้พิการออทิสติก พร้อมครอบครัวเข้ารับการฉีดวัคซีน ตามรายชื่อที่ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบ ซึ่งอนาคตจะมีการบริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ติดเตียงในรูปแบบของเดลิเวอรี่
ส่วนกรณีการฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติ นพ.โอภาส กล่าวว่า เราจะประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตแต่ละประเทศเพื่อส่งรายชื่อเข้ามา เพื่อระบุตัวตนของชาวต่างชาติ ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีในบางจังหวัด จะมีการฉีดเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น ควบคุมการระบาด แต่สำหรับกลุ่มชาวต่างชาติที่ผิดกฎหมาย จะต้องมีระบบพิเศษ เนื่องจากการระบุตัวตนทำได้ค่อนข้างยาก แต่เราก็จะพยายามฉีดให้ครอบคลุมให้มากที่สุด
“สำหรับองค์กร หรือโรงงานขนาดใหญ่เราจะใช้ระบบฉีดวัคซีนแบบกลุ่ม (Group vaccination) เช่น โรงงานมีพนักงาน 1,000 คน มีความประสงค์ฉีดวัคซีน เราก็จะอำนวยความสะดวกให้ แต่หากสามารถประสานกับโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน เพื่อฉีดได้ก็จะเป็นเรื่องที่ยินดี” นพ.โอภาส กล่าว