รีเซต

"ทุนจีน" บุกไทย ร้านอาหารแข่งดุ ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวสู้ l การตลาดเงินล้าน

"ทุนจีน" บุกไทย ร้านอาหารแข่งดุ ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวสู้ l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
21 เมษายน 2568 ( 09:27 )
22

หนึ่งในความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2568 คือการที่ต้องแข่งขันกับแบรนด์เกิดใหม่ และแบรนด์จากต่างประเทศ ซึ่งแบรนด์ร้านอาหารหน้าใหม่ยังคงตบเท้าเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพราะธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่สามารถเข้ามาง่ายมาก ใครก็สามารถเข้ามาได้ จึงมีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากช่วงต้นปีมานี้ มีแบรนด์ร้านอาหารเปิดใหม่กันทุกสัปดาห์ และบางสัปดาห์เปิดใหม่พร้อมกันถึง 2 แบรนด์เลยทีเดียว

ส่วนแบรนด์จากต่างประเทศ ที่เห็นเข้ามามากขึ้น คือแบรนด์ร้านอาหารจากจีน ไม่ว่าจะเป็นร้านหม้อไฟ หมาล่า และไก่ทอด รวมถึงร้านชา กาแฟสมัยใหม่ที่รุกเข้ามาขยายตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง

เช่น ร้านหม้อไฟชื่อดังอย่าง HAIDILAO (ไหตี่เลา) เป็นร้านอาหารแบรนด์จีนรายแรก ๆ ที่บุกเบิกเข้ามาในไทย ส่วนร้านหมาล่าทั่ง ก็เช่น Zhang Liang Malatang (จางเลี่ยง หมาล่าทั่ง) ที่มาพร้อม ๆ กับกระแสหมาล่าก่อนหน้านี้ 

ส่วนร้านไก่ทอด มาพร้อมกับกลยุทธ์ราคาเริ่มต้นที่ 15 บาท คือร้าน Zhengxin Chicken Steak (เจิ้งซิน ชิกเก้น) เข้ามาเปิดสาขาในไทยเมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่ แบรนด์ร้านเครื่องดื่มจะมีหลายแบรนด์หน่อย ไม่ว่าจะเป็น MIXUE (มี่เสวี่ย) ร้านชาและไอศกรีมชื่อดังที่มาพร้อมกับกลยุทธ์ราคา ปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั่วโลกแซงหน้าทั้งสตาร์บัคส์ และแมคโดนัลด์ ไปแล้ว และมีสาขาอยู่ในไทยจำนวนมาก

ส่วน WEDRINK (วี ดริ้งค์) ร้านชาและไอศกรีมอีกแบรนด์ ก็รุกเข้ามาขยายตลาดในไทยอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมี TANING (ถาหนิง) ร้านชามะนาว สไตล์กว่างโจว ส่วน CHAGEE ชาจี เป็นร้านชาพรีเมียม ที่มีต้นกำเนิดจากมณฑลยูนนาน NAIXUE ไน่ซือ แบรนด์ร้านชาผลไม้ และเบเกอรี่ ที่เริ่มเห็นสาขามากขึ้นในไทยแล้วเช่นกัน 

รวมถึงแบรนด์ร้านกาแฟ อย่าง Cotti Coffee (คอตติ คอฟฟี่) ปัจจุบันมีหลายสาขาทั่วโลกรวมถึงในไทยด้วย 

คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันมีแบรนด์จีน เข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่แค่ร้านอาหาร ยังมีอีคอมเมิร์ซด้วย แต่สำหรับร้านอาหาร ต้องยอมรับว่า การรุกเข้ามาขยายตลาดในไทย มาอย่างมีระบบการบริหารจัดการ และสามารถพัฒนาอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคคนไทยได้ดี

และอีกส่วนหนึ่งคือ ร้านอาหารจากจีนจะมีข้อได้เปรียบจากการที่เขามี อีโคโนมี ออฟ สเกล (economy of scale) จากประเทศจีนมาอยู่แล้ว ทำให้ต้นทุนราคามาได้ถูกกว่า

ทำให้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหาร แข่งขันกันรุนแรงต่อเนื่อง และไม่เฉพาะบริษัทฯ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารต่างก็ประสบกับสถานการณ์เดียวกัน ดังนั้น การจะอยู่รอดในตลาดได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่ง และการบริหารจัดการในระยะยาว

คุณณัฐ บอกอีกว่า ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารต้องวางแผนรับมือกับความท้าทายนี้ รวมถึงมองไปในเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจร้านอาหาร 

เช่น ความนิยมในสินค้าหรือบริการระดับพรีเมียม ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยลูกค้ายอมที่จะจ่ายแพงเพื่อแลกกับคุณภาพที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ หรือแพคเกจจิ้ง จะเห็นได้จากเมนูราคาแพง ๆ อย่าง ก๋วยเตี๋ยวเรือ หรือข้าวมันไก่ จานละ 200 กว่าบาท ต่างก็มีคิวยาวจากลูกค้าอยู่เสมอ

ส่วนอีกเทรนด์ที่เกิดขึ้น คือวงจรของแบรนด์สินค้าจะมีอายุสั้นลง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เบื่อง่าย และจะเปิดใจทดลองอาหารหรือบริการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งการจะทำแบรนด์ให้ปัง หรือเป็นที่นิยมนั้น สมัยก่อนอาจจะต้องทุ่มใช้สื่อมากมาย แต่ปัจจุบันเทคโนโลยี สื่อสังคมออนไลน์ สามารถทำให้แบรนด์ดังเร็วได้ แต่หากแบรนด์นั้นไม่ใช่ของจริง ก็จะสามารถดับในระยะเวลาอันสั้นได้เช่นกัน จะเห็นได้จากบางแบรนด์ที่มาอย่างครึกโครม และก็เงียบหายไปแล้ว แต่หากแบรนด์นั้น เป็นของจริง ก็สามารถดังและอยู่ได้ยาวนานเช่นกัน

ผู้บริหาร ซีอาร์จี กล่าวด้วยว่า แบรนด์ต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ทันกระแส และวางแผนการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกแพลตฟอร์ม ถือเป็นความท้าทายสำหรับแบรนด์ที่มีอายุ 30-40 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น ซีอาร์จี เอง หรือค่ายอื่น ๆ ที่จะต้องปรับตัวให้เร็ว และทำให้แบรนด์กลับมาสดใสอีกครั้ง เห็นได้จาก แบรนด์ระดับโลกเก่าแก่หลาย ๆ แบรนด์ ที่เก่งและสามารถทำให้แบรนด์สดใหม่เสมอได้ ไม่ว่าจะเป็น เคเอฟซี หรือแม้แต่แบรนด์น้ำดำ อย่าง เป๊ปซี่ และโคคาโคล่า ดังนั้น การรีเฟรชแบรนด์ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก

ขณะเดียวกัน ต้องพัฒนาแบบไม่หยุดนิ่ง และปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่นการทำฟอร์แมตร้านใหม่ ปรับลุคให้ดูแอคทีฟ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งการจะประสบความสำเร็จทำได้ไม่ง่าย แต่หากใครหลงไปกับความสำเร็จในอดีต ก็จะเหนือยมาก เพราะแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เข้ามานั้นเก่งมาก และมาพร้อมกับความคิดใหม่ ๆ ด้วย

และอีกความท้าทายที่สำคัญคือการบริหารจัดการคน ค่าแรงพนักงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มขยับสูงขึ้นจากปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้านอาหารทั่วไปจะต้องเจอและต้องปรับตัวเพื่อต่อสู้กับการแข่งขันต่อไปให้ได้ 

และสำหรับภาพรวมของตลาดธุรกิจร้านอาหาร ในปี 2568 นี้ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง อยู่ที่ราวร้อยละ 5-7 และมูลค่ารวม 572,000 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง