แฉไส้ในส่งออกมี.ค.โตแค่ 8.9% - สรท. คาดทั้งปีขยายตัว 5% ปัจจัยเสี่ยงเพียบ ขาดแรงงาน-วัตถุดิบ
แฉไส้ในส่งออกมี.ค.โต8.9% - นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมี.ค. 2565 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 28,859.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 19.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 922,313 ล้านบาท ขยายตัว 28.7% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือน มี.ค. ขยายตัว 8.9%
การนำเข้ามีมูลค่า 27,400.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 887,353 ล้านบาท ขยายตัว 26.8% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าเท่ากับ 1,459.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 34,960 ล้านบาท
ส่วนช่วงไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 73,601.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,401,444 ล้านบาท ขยายตัว 26.1% และเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัยออก พบว่าการส่งออกจะขยายตัวเพียง 8.7%
การนำเข้ามีมูลค่า 74,545.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,466,654 ล้านบาท ขยายตัว 29.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนม.ค.- มี.ค. 2565 ขาดดุลเท่ากับ 944 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 65,210 ล้านบาท
นายชัยชาญ กล่าวว่า คาดว่าไตรมาส 2 ปีนี้ส่งออกจะเติบโต 3.5-5% ส่วนทั้งปีจะอยู่ที่ 5% โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงคือ สงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้การค้าโลกชะลอตัว โดยเฉพาะสินค้าที่รัสเซียและยูเครนส่งออก เช่น น้ำมัน แร่ ปุ๋ย ที่ราคากำลังสูงขึ้นและขาดแคลน
นอกจากนี้ ราคาพลังงานยังทรงตัวสูง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่ง ส่วนค่าระวางปรับลงเล็กน้อยแต่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป ส่วนสหรัฐฝั่งตะวันออกยังเพิ่มขึ้น จากความต้องการที่สูง ขณะที่จีนประกาศล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ที่ ส่งผลให้ปัญหาเรือดีเลย์ รอเทียบท่ามากกว่า 1 สัปดาห์
นอกจากนี้ แรงงานในภาคการผลิตยังขาดแคลนต่อเนื่อง และอาจมีต้นทุนจ้างงานสูงขึ้น ซ้ำเติมต้นทุนมากขึ้น และยังมีปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, แร่ธรรมชาติ, สินค้าอุปโภคบริโภคขั้นต้นและขั้นกลาง เป็นต้นส่วนปัญหาโรคโควิด-19 แม้ว่าไทยจะเปิดประเทศ 1 พ.ค. แต่บางประเทศยังเข้มงวดมาตรการตรวจสอบโควิดก่อนเข้าประเทศ อาทิ จีน จึงคงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดต่อไป
นายชัยชาญ กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ขอให้ภาครัฐปรับโดยอ้างอิงกับตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งต้องควบคุมไม่ให้สูงเกิน กว่า 5% เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และปรับขึ้นแบบ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานสูง ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวเฉลี่ยต่อคนประมาณ 12,000 บาท ดังนั้นหากปรับขึ้นมากเกินไปอาจกระทบกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด-19
นอกจากนี้ ควรเร่งลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชน เช่น ค่าเดินทางรถโดยระบบขนส่งสาธารณะค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซหุงต้ม ลดต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการ ทั้งด้านแรงงานและเครื่องจักร แทนที่จะควบคุมราคาสินค้าของผู้ประกอบการ
รวมทั้งมองหาช่องทางขยายตลาดเพิ่มเติมทั้งกลุ่มตลาดศักยภาพระดับรองที่อาจเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่สามารถทดแทนกลุ่มสินค้าที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศรัสเซียและยูเครน และกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าเพื่อยกระดับ/กระตุ้นให้เกิด Trade activity ในลักษณะ Exhibition / Business matching ระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงเร่งผลักดันการค้าเข้าสู่ตลาด RCEP ให้มากที่สุด เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว