รีเซต

เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบาย อยุธยาฯ ท่วมแล้ว 6 อำเภอ

เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบาย อยุธยาฯ ท่วมแล้ว 6 อำเภอ
TNN ช่อง16
29 กันยายน 2567 ( 10:59 )
27

สถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลงสู่ลุ่มภาคกลาง ต้องจับตาใกล้ชิด มวลน้ำเหนือไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องวัดได้ 1,938 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มอัตราการระบาย ขึ้นไปที่ 1,899 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อสร้างพื้นที่ว่างในลำน้ำรองรับปริมาณน้ำเหนือ ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนยกตัวขึ้น 16 เซนติเมตรในรอบ 24 ชั่วโมง 


จากการปรับเพิ่มการระบายน้ำในเกณฑ์นี้ จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ริมคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 15-30 เซนติเมตรใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า จึงขอให้ประชาชนยกของขึ้นที่สูง และเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ และติดตามประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิดต่อไป



ทีมข่าว TNNช่อง16 ลงพื้นที่ตำบลหาดอาษา อำเภอสรรพยา ซึ่งเป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งตะวันออก ระดับน้ำสูงขึ้นเหลือไม่ถึง 1 เมตรจะล้นเข้าท่วมท่วมพื้นที่ นางนันท์ชญา สุภาวิตา นายกเทศมนตรีตำบลหาดอาษา นำเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน ช่วยกันกรอกกระสอบทราย นำไปอุดบริเวณปากท่อระบายน้ำชุมชน ป้องกันมวลน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไหลย้อนเข้าท่อเข้าไปเอ่อท่วมชุมชน อย่างไรก็ตามหากเขื่อนต้องเพิ่มการระบายน้ำขึ้นไปถึง 2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จนทำให้เกิดน้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งท่วมชุมชน ทางเทศบาลได้ตั้งงบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วมจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อนำมาบริหารจัดการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที 



ส่วนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ลุ่มริมน้ำได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา แล้ว 6 อำเภอ 74 ตำบล 376 หมู่บ้าน 11,619 ครัวเรือน ได้แก่ อำเภอผักไห่ เสนา บางบาล บางไทร พระนครศรีอยุธยา และ อำเภอบางปะอิน ร่วมถึงวัด 6 แห่ง มัสยิด 1 แห่ง โรงเรียน 5 แห่ง และหลายพื้นที่ระดับยังคงเพิ่มสูงขึ้น ชาวบ้านวัดต้องเร่งขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง 


ที่วัดตะกู ตำบลวัดตะกู อำเภอบางบาล พระครูสมุห์พอเจตน์ ชาตวีโร เจ้าอาวาสวัดตะกู นำพระสงฆ์ร่วมกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ขนย้ายข้าวของภายในโบสถ์ขึ้นไว้บนที่สูง หลังระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง มีการยกโต๊ะมาหนุนข้าวของสูงขึ้นจากพื้นโบสถ์อีก 1 เมตร



เจ้าอาวาสวัดตะกู บอกว่า ตอนนี้ระดับน้ำสูงถึงเข่า จึงขอความร่วมมือผู้นำชุมชนมาช่วยยกของขึ้นที่สูง เพราะโบสถ์แห่งนี้ถูกน้ำท่วมทุกปี ยังคงมีร่องรอยความเสียหายตั้งแต่ครั้งปี 65 พอน้ำท่วมเต็มพื้นที่ทางวัดก็จะถูกตัดขาดต้องใช้เรือเข้า-ออก ตอนนี้พระก็ต้องหยุดบิณฑบาต เพราะในหมู่บ้านถูกน้ำท่วมทั้งหมด


ด้าน กำนันตำบลวัดตะกู บอกว่า บ้านเรือนในพื้นที่ถูกน้ำท่วมแล้วเกือบ 400 ครัวเรือน รวม 565 ครัวเรือน หรือกว่า 1,000 กว่าคน ในพื้นที่ตรงนี้ถูกน้ำท่วมเป็นระลอกที่ 2 ในรอบปี บางจุดเป็นระลอกที่ 3 แต่รอบนี้น้ำขึ้นไวกว่าเดิม พอมีการแจ้งเตือนเขื่อนปล่อยน้ำ เราก็รีบขนของทันที แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะต้องขนขึ้นสูงอีกแค่ไหน เพราะเขื่อนยังปล่อยน้ำอย่างต่อเนื่อง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง