รีเซต

1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์: เปลี่ยนฝันให้เป็นจริง สร้างรายได้ 2 แสนบาทต่อปี

1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์: เปลี่ยนฝันให้เป็นจริง สร้างรายได้ 2 แสนบาทต่อปี
TNN ช่อง16
22 เมษายน 2567 ( 11:32 )
20
1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์: เปลี่ยนฝันให้เป็นจริง สร้างรายได้ 2 แสนบาทต่อปี

"One Family One Soft Power" ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทย


รัฐบาลประกาศนโยบายใหม่ "One Family One Soft Power" เพื่อผลักดันและส่งเสริมศักยภาพด้านซอฟต์พาวเวอร์ของคนไทยสู่ระดับสากล โดยจะเริ่มต้นจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการจัดตั้ง "ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์" ในทุกระดับตั้งแต่หมู่บ้านจนถึงระดับประเทศ


ตามแผนงาน รัฐบาลจะค้นหาและคัดเลือกบุคคลที่มีศักยภาพด้านต่างๆ อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ หรือกีฬา เพื่อเข้ารับการบ่มเพาะและพัฒนาทักษะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีเป้าหมายสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยอย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี


นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนการสร้างงานในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์กว่า 20 ล้านตำแหน่ง ผ่านการปลดปล่อยกฎระเบียบ สนับสนุนเงินทุน และขยายการส่งออกด้วยนโยบายต่างประเทศ โดยมีหน่วยงาน "THACCA" ทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศให้อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด


นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทย สร้างรายได้และงานจำนวนมาก รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลกในอนาคต




THACCA: หน่วยงานหลักขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย



THACCA (Thailand Creative Content Agency)  เป็นหน่วยงานภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อ ขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของไทย อย่างเป็นระบบ ครบวงจร


โดยมีเป้าหมายหลักคือ 


1.สร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ 

2.ส่งเสริมธุรกิจซอฟต์พาวเวอร์ของไทย 

และ 3.สร้างงานใหม่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 


ภารกิจสำคัญของ THACCA ประกอบด้วย การเป็นหน่วยงานกลางกำหนดทิศทางซอฟต์พาวเวอร์ บริหารกองทุนสนับสนุน ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บ่มเพาะศักยภาพคนไทยด้านสร้างสรรค์ ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ส่งเสริมเสรีภาพแสดงออก และผลักดันการส่งออกสินค้าบริการด้านซอฟต์พาวเวอร์



THACCA (ทักก้า) จะทำอะไรบ้าง เพื่อผลักดัน Soft Power ไทยอย่างครบวงจร


THACCA ดูทั้งระบบ จบที่เดียว เป็นเจ้าภาพหลัก ดูทั้งระบบเบ็ดเสร็จองค์กรเดียว ไม่ต้องประสานงานวิ่งหลายหน่วยงาน


 • กองทุนรวมซอฟต์พาวเวอร์ รวมกองทุนที่กระจัดกระจายในหลายหน่วยงานให้อยู่ภายใต้การดูแลของ THACCA และเติมทุนให้ทุกสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ลดหย่อนภาษีสร้างแต้มต่อให้รายเล็กและรายใหม่


 • ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขยาย TCDC ครบทุกจังหวัด เพิ่ม Co-Working Space สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งมวลชน และลงทุนถนน ราง เรือ ขยายสนามบิน


 • ยกระดับคนทำงานด้วย 1 ครอบครับ 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) สร้างศูนย์บ่มเพาะเพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ทุกพื้นที่ เรียนฟรีมีเงินเดือนผ่านการเรียนไปทำงานไป สนับสนุนให้ตั้งสหภาพคนทำงานในทุกสาขา เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงานและคุ้มครองสวัสดิการ 


 • รื้อกฎหมาย ทลายอุปสรรค เลิกงานเอกสาร ลดขั้นตอน ลัดเวลา ในการประสานงานและขอใบอนุญาตทุกฉบับ แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปลดล็อคสุราเสรี ปลดล็อคเวลาเปิดปิดธุรกิจกลางคืน กวาดล้างขบวนการรีดไถ่จ่ายส่วนให้หมดไป


 • ปลดปล่อยเสรีภาพในการแสดงออก เลิกเซนเซอร์ เปิดพื้นที่แสดงออก ไม่ตีกรอบความคิดสร้างสรรค์


 • เร่งผลักดัน 8 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป้าหมาย เร่งส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ เจรจาเปิดตลาดใหม่ ขยายขนาดอุตสาหกรรม สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง



นโยบาย THACCA (Thailand Creative Content Agency) เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย   ประกอบไปด้วย 3 แกนหลัก ดังนี้


1. พัฒนาทักษะสร้างสรรค์:


➱จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปจนถึงระดับประเทศ

➱เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ทักษะต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

➱สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning)

➱ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ


2. สนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์:


➱จัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลและส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย

➱สนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรต่างๆ ให้กับธุรกิจซอฟต์พาวเวอร์

➱พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจซอฟต์พาวเวอร์

➱ส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการซอฟต์พาวเวอร์ไทย


3. ปลดล็อกกฎระเบียบ:


➱ทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจซอฟต์พาวเวอร์

➱ส่งเสริมบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการแสดงออกและสร้างสรรค์ผลงาน

➱พัฒนาระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

➱สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในธุรกิจซอฟต์พาวเวอร์


ตัวอย่างนโยบายเฉพาะด้าน


ด้านศิลปะร่วมสมัย


◉ปรับปรุงกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย

◉ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะ

◉พัฒนากฎหมายและระเบียบที่สนับสนุนศิลปิน

◉ลดภาษีอุปกรณ์ศิลปะ

◉แจกคูปองท่องฝันให้นักเรียนนักศึกษาไปดูงานศิลปะ

◉เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ศิลปินแสดงผลงาน


ด้านงานออกแบบ งานฝีมือ และแฟชั่น

◉สร้างศูนย์สร้างสรรค์และออกแบบ (TCDC) ครบทุกจังหวัด

◉พัฒนาคนรุ่นใหม่ด้านการออกแบบ

◉จัดเทศกาลงานออกแบบระดับโลก

◉ช่วยส่งออกสินค้าออกแบบและแฟชั่นไทย

◉ตั้งร้านขายสินค้าไทยในต่างประเทศ


ด้านการท่องเที่ยว

◉ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวทางน้ำ และการจัดแสดงและประชุม

◉จัดตั้งกองทุนเพื่อการท่องเที่ยวไทย

◉พัฒนาระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน

◉ยกระดับคุณภาพคนทำงานด้านการท่องเที่ยว

◉พัฒนามาตรฐานสนามบินสุวรรณภูมิ


ด้านกีฬา

◉ส่งเสริมมวยไทยไปสู่เวทีโลก

◉พัฒนากีฬาฟุตบอลไทย

◉ดึงการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดที่ไทย

◉พัฒนาทักษะนักกีฬาไทย

◉จับคู่รัฐวิสาหกิจกับสมาคมกีฬา

◉พัฒนากองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ



น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ระบุ ความคืบหน้าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย ว่าได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 3 ข้อ ประกอบด้วย การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ผ่านคณะอนุกรรมการ 11 คณะจากภาคเอกชน รวมถึงการเตรียมจัดตั้งหน่วยงานกลางคือ "THACCA" หรือ Thailand Creative Culture Agency โดยร่างพระราชบัญญัติอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และคาดจะเข้าสู่สภาภายในเดือนมิถุนายนนี้


สำหรับการพัฒนาบุคลากรผ่านโครงการ "1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์" น.ส.แพทองธารเปิดเผยว่า จะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนอบรมทุกหลักสูตรในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ทั้งการอบรมแบบออนไลน์และออนไซต์ โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายอบรมออนไลน์กว่า 266,400 คน และออนไซต์ประมาณ 30,000 คน เช่น อบรมเชฟอาหารไทย 10,000 คน มวยไทย 6,000 คน เป็นต้น ซึ่งจะเปิดรับลงทะเบียนทางออนไลน์และผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ



เสียงสะท้อนจากประชาชนต่อโครงการ "One Family One Soft Power"


โครงการ "One Family One Soft Power" ของรัฐบาลได้รับเสียงตอบรับที่หลากหลายจากประชาชน ในขณะที่หลายคนชื่นชมและสนับสนุนโครงการนี้ที่จะช่วยพัฒนาทักษะ สร้างอาชีพ และรายได้ใหม่ให้กับคนไทย บางคนก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดการสมัครและหลักสูตรที่เปิดสอน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความหวังของประชาชนส่วนใหญ่คือ โครงการนี้จะประสบความสำเร็จและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในการยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย


"ดีใจที่มีโครงการแบบนี้ จะได้มีโอกาสพัฒนาทักษะตัวเอง หาอาชีพใหม่ๆ เพิ่มรายได้ให้ครอบครัว"

"โครงการนี้น่าสนใจมาก เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย มีตัวเลือกให้เลือกเรียนรู้หลากหลาย"

"ดีใจที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ คิดว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยได้"

"หวังว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ และช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทยจริงๆ"

"อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ เช่น วิธีสมัคร หลักสูตรที่เปิดสอน สถานที่อบรม"
 ความเห็นบางส่วนจากประชาชน 


อย่างไรก็ดี ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังคงมีข้อกังวลและข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการในหลายประเด็น อาทิ ความสามารถในการเข้าถึงโครงการของคนในพื้นที่ห่างไกล หรือผู้ที่มีภาระผูกพันอื่นๆ อยู่แล้ว ความหลากหลายและคุณภาพของหลักสูตรการอบรมที่จะเปิดให้บริการ รวมถึงเรื่องของการสนับสนุนด้านทุนการศึกษา เบี้ยเลี้ยง หรือสวัสดิการต่างๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้เข้าร่วม


นอกจากนั้น ยังมีประชาชนที่ต้องการให้ภาครัฐเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์โครงการให้มากขึ้น เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ อาทิ วิธีการสมัคร หลักสูตรที่เปิดสอน สถานที่อบรม เป็นต้น พร้อมทั้งต้องการให้มีการติดตามผลการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินว่าสามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนได้จริงหรือไม่ และนำข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป



โครงการ "1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์" ที่รัฐบาลผลักดัน ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย โดยจะเปิดโอกาสให้คนไทยจำนวนมากได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การมีชีวิตและโอกาสทางอาชีพที่ดีขึ้น ทั้งนี้ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านโครงการดังกล่าว


โครงการนี้มีจุดประสงค์สำคัญในการเพิ่มพูนทักษะและความสามารถของคนไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว



ภาพ Getty Images 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง