รีเซต

“ที่นี่ที่เดียว” The Only One Thailand เมื่อ Soft Power มาแบบ Reality

“ที่นี่ที่เดียว” The Only One Thailand เมื่อ Soft Power มาแบบ Reality
TNN ช่อง16
19 สิงหาคม 2566 ( 11:16 )
178

รายการ “ที่นี่ที่เดียว” The Only One Thailand  คือ อีกความพยายามหนึ่งในการร่วมผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ  ถ้ารายการแต่ละตอน ซึ่งมีทั้งหมด 6 ตอนที่ผลิตออกมามีผู้ชมทั่วโลกบรรลุเป้าเดือนแรกล้านวิวต่อตอน นั่นน่าจะเกิด Impact สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย


 

ดึงอินฟลูเอ็นเซอร์ดังพา 5 F ปังระดับโลก



จตุพร บุตรโคตร และ ไพรัช ทะโทน คู่หูเบื้องหลังซีรีส์และภาพยนตร์ดัง อาทิ บางรักซอย 9, เฮง เฮง เฮง, เป็นต่อ ฯลฯ มนต์รักสิบหมื่น, เฮ้ยลูกเพ่ นี่ลูกพ่อ, มิสเตอร์เฮิร์ท, ฮาร์ทบีท เสี่ยงนักรักมั้ยลุง และ “ผีมือใหม่” ที่กำลังจะออกฉาย เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ “ที่นี่ที่เดียว” The Only One Thailand ว่า


 

“โจทย์มาจาก ซอฟท์ พาวเวอร์ กับรายการเรียลลิตี้ ก็เลยมาคิดว่า ไอเดียส่งเสริมซอฟท์ พาวเวอร์ ไทยเราต้องทำเพื่อให้คนต่างชาติดู เพราะฉะนั้นเราต้องมีผู้ดำเนินรายการเป็นชาวต่างชาติ อย่างเราคนไทย เรายังดูอินฟลูเอ็นเซอร์ไทยกันเยอะเลย เพราะฉะนั้น ชาวต่างชาติก็น่าจะดูอินฟลูเอ็นเซอร์ชาติเดียวกันกับพวกเขา เราก็เลยได้แนวคิดว่า ถ้ามีเป็นรายการๆ หนึ่ง ที่นำอินฟลูเอ็นเซอร์ไทยมาเจอกับอินฟลูเอ็นเซอร์ต่างชาติ รายการเราก็จะมีคนดูทั้งคนไทย และคนต่างชาติ 


 

บวกกับโจทย์ที่ต้องพูดถึงซอฟท์ พาวเวอร์ เราก็มาดูว่าอะไรเป็น ซอฟท์ พาวเวอร์ เด่นๆ ของประเทศไทย เราคุยกันเยอะมากว่าควรจะมีอะไรบ้าง จึงได้สรุปมาทั้งหมดตามนี้ กรุงเทพ อาหาร นวด มวย ดนตรีไทย แค้มปิง ที่ท่องเที่ยวแบบแค้มปิ้งเพราะเราอยากจะนำเสนออย่างอื่นนอกจากทะเลบ้าง เมืองไทยเรา ส่วนใหญ่ต่างชาติจะรู้ว่าเรามีทะเลสวย นอกจากทะเล เราอยากนำเสนอว่ามีสถานที่อื่นๆ สวยด้วย  


 

จากโจทย์  ซอฟท์ พาวเวอร์ ทั้งหมดมาถึงวิธีการนำเสนอ เรามีผู้ดำเนินรายการคนไทยมาแนะนำผู้ดำเนินรายการต่างชาติในทุกๆ ตอน เป็นฟอร์แมตนี้ไป คนต่างชาติในประเทศนั้นๆ จะได้มาดู ส่วนคนไทยก็ดูอยู่แล้ว สำหรับการคัดเลือกอินฟลูเอ็นเซอร์ไทยและต่างชาติ เป็นการร่วมกันคัดโดยทีมงานกองทุนสื่อฯ ครีเอทีฟ และฝ่ายอื่นๆ ในออลแมช โดยนำอินฟลูเอ็นเซอร์ต่างชาติที่อยู่ในไทย และอินฟลูเอ็นเซอร์จากประเทศใกล้เคียงด้วย มาดิสคัทหาความเหมาะสมจนลงตัว 


 

“เราคนไทย อยู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ดี สวยงาม มีวัฒนธรรม อยากให้คนไทยรักและอยากให้แสดงออก นำเสนอความเป็นไทย ว่าบ้านเราดี บ้านเราสวยงาม และอยากชวนเพื่อนๆ ใครก็แล้วแต่ มาเที่ยวไทย ว่าประเทศไทยเราสวยงาม” 


 

ก็อตจิ - ลิโบ พาชมสะดือกรุงเทพฯ



ก็อตจิ ทัชชกร บุญลัภยานันท์ จาก “เทยเที่ยวไทย” และ ลิโบ (Li Bo) นายแบบและนักแสดงสมทบชาวจีน เปิดตัวในตอนแรก ด้านการท่องเที่ยว “Bangkok Tour”  โดยก็อตจิบอกว่า “เราพาเที่ยวหลายสถานที่ เช่น เยาวราช คลองโอ่งอ่าง ว้าวมาก เพราะพัฒนาขึ้น รีโนเวทใหม่ ถือเป็นแลนมาร์คได้เลย น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ได้พาเที่ยวบนภูเขาทองด้วย ทั้งนั่งรถตุ๊กตุ๊กและเดิน เรียกว่าได้เดินเที่ยวกันเป็นหมื่นก้าว และพาไปชมสะดือกรุงเทพ ที่หลายท่านไม่รู้จัก อยากรู้ว่าที่ไหน รอชมกันได้เลยค่ะ” 


 

ส่วนลิโบพิธีกรชาวจีน บอกว่า “สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ในรายการ มีบางที่เคยไปมาแล้ว บางที่ไม่เคยไปเลย แต่การเที่ยวแต่ละครั้งได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป”


 

ยามาชิตะ ฮารุกะ กับภารกิจสุดโหดในตอนอาหารไทย



ไอดอลญี่ปุ่น “ยามาชิตะ ฮารุกะ” ยูทูบเบอร์ช่อง Haarupii ที่โด่งดังทางด้านแนะนำร้านอาหารในญี่ปุ่น มาร่วมในตอน “อาหารไทย” กับเชฟตุ๊กตา เจ้าแม่วงการอาหารไทย ผู้จัดภารกิจสุดท้าทายกับ เบิร์ด ณัฐชัย สิรินันทโชติ เพจผ่าม เล่าว่า “คือพูดภาษาไทยพอได้บ้าง แต่ต้องมาทำภารกิจไปจ่ายตลาดแบบห้ามพูดภาษาไทย เราพูดอังกฤษคนขายก็ไม่รู้เรื่อง ต้องชี้มือ ของที่ต้องซื้อก็ไม่รู้จัก เนื่องจากภารกิจโหดมาก คือให้ไปช่วยกันสรรหาวัตถุดิบหลักในการทำเมนูข้าวซอย ในที่สุดเขาต้องการผักดอง เราไปซื้อผักกาด กะหล่ำมา”   


 

อย่างไรก็ตาม ยามาชิตะ ฮารุกะ ในฐานะตัวแทนของรายการตอนอาหารไทย บอกว่าตนได้ทำข้าวซอยครั้งแรกในชีวิต ได้ความสนุก ได้ความรู้ สำหรับอาหารไทยอื่นๆ เธอชอบกินหมูกระทะมากที่สุด  


 

ในตอนอาหารไทยนี้ ได้สอดแทรกเทคนิคและวิธีการในการทำข้าวซอยให้อร่อยครบรส เข้าถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ที่สะท้อนถึง “ความพิถีพิถันความประณีต สวยงาม”  อีกมิติหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ทั้งนี้ “ข้าวซอย” อาหารไทยท้องถิ่นภาคเหนือจัดอยู่ในอันดับ 1 ของ 50 ซุปที่ดีที่สุด (Best Soups) จากนักรีวิวโดยเว็บไซต์ TasteAtlas  


 

ชีวัม ปาวา อินฟลูเอ็นเซอร์อินเดียพานวดไทย



ชีวัม ปาวา (Shivam Pawa) ดาวติ๊กต๊อกซึ่งมียอดผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน ร่วมกับหลุยส์ ชวนชื่น นักแสดงตลกชื่อดัง ทำรายการตอน “นวดแผนไทย” โดยมีผู้เชี่ยวชาญในการนวด ให้ความรู้ศาสตร์และศิลป์ของนวดแผนไทย ชีวัม พิธีกรชาวอินเดียเล่าว่า “ได้รู้สิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้ สนุกมากได้คู่กับหลุยส์ ชวนชื่น ยิ่งสนุกเข้าไปกันใหญ่ ผมชอบนวดไทยมาก ไม่เหมือนนวดอินเดีย”  พิธีกรบอกว่า “พอชีวัมรู้จักนวดไทยก็เรียกว่า เดินสายนวดกันไปเลย”  


 

ชีวัมย้ำว่า “ชอบเมืองไทย อยากให้วัฒนธรรมไทยเผยแพร่ไปทั่วโลก อยากให้คนอินเดียได้รู้จัก และอยากให้คนทั่วโลกได้รู้จัก”


 

โดยทั้งคู่จะนำเสนอการแก้อาการปวดเมื่อยตามจุดต่าง ๆ และวิธีการนวดเพื่อลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายโดยอาศัยการสัมผัสอย่างมีศิลปะ สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณและมีการสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันจนสร้างชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก


 

เบ๊น อาปาเช่ จะต่อยมวยไทยกับคริสสตอฟ เดส์ก็องพ์ส ไหม




สำหรับ เบ๊น อาปาเช่ เจ้าของเพจ Benz Apache ผู้ดำเนินรายการตอน “มวยไทย” เล่าว่า “ผมชอบมวยไทย มันคือซอฟท์ พาวเวอร์ ของไทย ผมทำรายการท่องเที่ยวมาเยอะ แต่ “ที่นี่ที่เดียว” แตกต่างออกไป ผมต้องไปวิ่งกับนักมวย ตั้งแต่พระบรมมหาราชวัง ไปจนโน่น… เสาชิงช้า และมีความรู้เกี่ยวกับมวยไทยมากมาย ถ้าชมแล้วคุณจะอยากต่อยมวยเลยครับ” คริสสตอฟ เดส์ก็องพ์ส (Christophe Descamps) นักร้องผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงไทย ที่มาร่วมดำเนินรายการในตอนมวยไทย บอกว่า “ผมมีเพื่อนคนฝรั่งเศสที่ชอบต่อยมวยไทยเยอะ รายการนี้จะทำให้พวกเขาได้ความรู้เรื่องมวยไทยเพิ่มขึ้น”


 

โดยในตอน “มวยไทย” จะพาผู้ชมทุกชาติให้ซาบซึ้งกับสุดยอดศิลปะการต่อสู้ของไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกพร้อม พร้อมเปิดประสบการณ์การรำมวยไทย และออกอาวุธแม่ไม้มวยไทย ประลองหมัดในเกมการแข่งขัน พร้อมเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้การป้องกันตัวที่มีเอกลักษณ์ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของไทย


 

ควัง รยูน จอง กับโจ๊ก พาแค้มปิ้งกับภารกิจฮากลิ้ง




โจ๊ก IScream ยูทูบเบอร์และเจ้าของเพจโจ๊ก IScream และ ควัง รยูน จอง (Kwang Ryun Jeong) ยูทูบเบอร์ชาวเกาหลีช่อง RYUNTIME ร่วมดำเนินรายการตอน “ท่องเที่ยวธรรมชาติ” โดยโจ๊กเล่าถึงการทำงานที่สนุกสนานว่า “เราต้องพาไปชมพระอาทิตย์ขึ้น พากันตื่นตีห้า เมฆบัง ไม่มีแสง รอจน 11.00 น. ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล สงสัยมาก เราไปกันทำไม” ในขณะที่ ควัง รยูน จอง นำวิชาลูกเสือมาใช้ในภารกิจ ทำให้โจ๊กรู้ว่า นักเรียนไทยเรียนวิชาลูกเสือทุกสัปดาห์ นักเรียนญี่ปุ่นเรียนปีละ 1 ครั้ง แต่มีความรู้พอ ๆ กัน หลังจากนั้น ควัง รยูน จอง กับโจ๊ก สลับกันร้องเพลงรอบกองไฟของญี่ปุ่นและไทย  


 

รายการตอน “ท่องเที่ยวธรรมชาติ” พาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแบบใกล้ชิดธรรมชาติ แหล่งทรัพยากรอันล้ำค่าของประเทศ พาเดินทางไปสัมผัสชีวิตการการท่องเที่ยวแบบ “แคมป์ปิ้ง” ที่เขาช่องลม จังหวัดนครนายก   พร้อมสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับภารกิจสุดท้าทาย การกางเต็นท์ การสรรหาวัตถุดิบธรรมชาติในการทำอาหารอย่างใกล้ชิดกับภูเขา โขดหิน ทุ่งหญ้า สายน้ำลำธาร 


 

น้องมายด์ อินฟลูเอ็นเซอร์ สปป.ลาว กับดนตรีไทย



ในส่วนของตอน “ดนตรีไทย”  อินฟลูเอ็นเซอร์ดังชาวไทย บ๊อบบี้ เพจสามบาทห้าสิบ  กับแขกรับเชิญ น้องมายด์ จันทร์ธิดา จันทร์ทะเสนา ศิลปินนักร้องจาก สปป.ลาว เจ้าของเพลงดัง “แพงอ้าย” ยอดวิวกว่า 237 ล้าน ร่วมกันเล่าเรื่องการถ่ายทำรายการ น้องมายด์บอกว่า “วัฒนธรรมไทยกับลาวใกล้เคียงกันมาก มีบางอย่างที่มาเห็นแล้วตื่นเต้น ได้เล่นเครื่องดนตรีไทย ชอบเพลงค้างคาวกินกล้วยมากค่ะ ที่ขำมากคือตอนให้นับว่าเพลง “ช้าง” ของไทยมีช้างกี่ตัว”


 

หลังจากนั้น โปรดิวเซอร์ไทย ท็อฟฟี่ ซึ่งทำเพลงชวนเที่ยวไทยได้ไพเราะสนุกสนาน ได้เชิญให้บ๊อบบี้และน้องมายด์ ร้องโชว์ รวมถึงน้องมายด์โชว์เดี่ยวเพลงดัง “แพงอ้าย” อีกด้วย สร้างความประทับใจให้ผู้ชมมาก 


 

โดยตอน ดนตรีไทย พาร่วมสืบสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านท่วงทำนองบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไทย เรียนรู้เครื่องดนตรีไทยอาทิ ระนาดเอก แคน และโหวดเครื่องดนตรีอีสาน โดยร่วมสร้างสรรค์บทเพลงกับโปรดิวเซอร์ไทย ท็อฟฟี่ พร้อมการแสดงดนตรีร่วมกับวงดนตรีไทย ที่ตลาดนัดจตุจักร 


 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส The Man Behind



รายการ “ที่นี่ที่เดียว” The Only One Thailand เป็นการทำงานร่วมกันของ กระทรวงวัฒนธรรม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และบริษัท ออลแมช มีเดีย แอดเวอร์ไทซิ่ง เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) ปี 2565 


 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ทุกเรื่องราวดี ๆ ล้วนมาจากวิถีชีวิตที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทยเรา หัวใจสำคัญอยู่ที่การเล่าเรื่อง เนื้อหาดี เรื่องราวดี การนำเสนอดี คนเล่าเรื่องต้องดีด้วย การที่เราได้คนเก่งที่มีชื่อเสียง มีแฟนคลับมากมายมาเล่า จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้เร็วและมากขึ้น  รายการ “ที่นี่ที่เดียว” The Only One Thailand ได้เดินตามคอนเซ็ปท์นี้ มีการเชิญคนต่างชาติมาร่วมเล่าเรื่อง สร้างความแตกต่างและสามารถเข้าถึงผู้คนได้หลากหลาย ทำให้เรามีสื่อเชิงบวกให้เลือกชมเพิ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงสื่อเชิงลบที่มีผลกระทบต่อผู้รับไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม งานชิ้นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของกองทุนสื่อที่ต้องการสนับสนุนและพัฒนาสื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์”


 

ชวน Content Creator ต่อยอด สร้างสื่อดีจากเรื่องเล่าในชุมชน


“ความชอบของคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนชอบเรื่องแหล่งท่องเที่ยว บางคนชอบดูรายการอาหารแบบตลกๆ โดยส่วนตัวผมชอบเรื่องเล่า ผมอยากให้เรื่องเล่าในชุมชน จะเป็นการเชิญชวนคนเข้าไปเที่ยวชุมชน แต่ละเรื่องเล่าทำงานร่วมกันหลายฝ่าย เล่าไปแล้วต้องมีรายละเอียด การเดินทางสะดวกไหม ไปแล้วได้ทำกิจกรรมอะไร ร่วมกับชาวบ้าน หรือได้กิจกรรมทางศาสนาร่วมกับวัด เรื่องเล่าในท้องถิ่นในชุมชนของไทยเรามีมากมาย อยากผลิตออกมาเป็นคลิป หนังสั้น ภาพยนตร์ หรือเป็นซีรีส์ ก็คิดว่าวันหนึ่งเราคงจะได้ทำ อย่างโครงการ “ที่นี่ที่เดียว” The Only One Thailand  นี้คอนเซ็ปท์ดีมาก เพราะไม่ใช่แค่การสร้างสื่อเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างเดียว แต่ถือเป็น ซอฟท์ พาวเวอร์ ที่มาถูกทาง


 

ประเด็นที่สอง ด้วยองค์ประกอบของการนำเสนอ มีเรื่องของพหุวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นโครงการนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีและได้ไปต่อแน่นอน  กองทุนสื่อฯ เราสนับสนุนให้มีผลงานดีๆ เยอะมาก อยากให้รับชม และอยากให้ติดตามองค์ความรู้การเปิดรับสื่อ สื่อมีทั้งบวกและลบ เพราะฉะนั้นเราต้องมีสติ ต้องรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อในการถูกหลอกจากภัยออนไลน์ภัยไซเบอร์ต่างๆ ประชาชนได้ชมสื่อจากกองทุนสื่อฯ ไม่ควรจะถูกหลอก ไม่ควรจะเสียรู้


 

ในปัจจุบันนี้ทุกคนมีความสามารถที่จะผลิตสื่อด้วยตนเอง เครื่องมือที่มีอยู่ ต้นทุนต่ำอย่างง่ายๆ แค่ถ่ายทอดออกมา แล้วเชื่อเถอะครับ ผลิตเรื่องราวดีๆ กันมากๆ วันหนึ่งเราจะมีเรื่องราวดีๆ เต็มไปหมด จะไปลดเรื่องราวแย่ๆ ลง คืออยากให้ทุกคนช่วยกันสร้างระบบนิเวศน์สื่อ”


 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง