รีเซต

“ไฟดูด” มัจจุราชฤดูฝนแนะ 7 วิธี ลดความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิต

“ไฟดูด” มัจจุราชฤดูฝนแนะ 7 วิธี ลดความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิต
TNN ช่อง16
4 กรกฎาคม 2567 ( 14:27 )
12
“ไฟดูด” มัจจุราชฤดูฝนแนะ 7 วิธี ลดความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิต

 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประชาสัมพันธุ์ข้อมูลการป้องกัน “ไฟดูด” ในช่วงฤดูฝน ลดการเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย จากไฟฟ้ารั่วไหลหรือไฟฟ้าลัดวงจร


นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ช่วงหน้าฝนควรระมัดระวังอันตรายจากไฟฟ้าดูด ไฟฟ้ารั่วมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุด เนื่องจากสภาพอากาศที่เปียกชื้นประกอบกับน้ำเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้า จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยจากไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะเตรียมพร้อมป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยจากไฟฟ้าในช่วงฤดูฝน ดังนี้ 


1. ควรเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าและปลั๊กไฟที่ได้มาตรฐานและมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)  จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน  


2. ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากชำรุดให้ทำการซ่อมแซมทันที  ไม่ควรซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยตนเอง เนื่องจากความไม่ชำนาญและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้


3. ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะ เพราะกระแสไฟฟ้ารั่วจะถูกไฟฟ้าดูด  


4. ไม่นำเครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดมาใช้งาน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำและความชื้น เพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย  


5. ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าดูด อาทิ เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เบรกเกอร์ควบคุมไฟ สายดิน หากกระแสไฟฟ้ารั่วจะช่วยป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด   


6. เก็บเครื่องใช้ไฟฟ้าและสายไฟให้มิดชิด ให้พ้นจากบริเวณที่เสี่ยงต่อการถูกฝนสาดหรือน้ำท่วมถึง เพื่อป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายจากน้ำและความชื้น  


7. ขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนองให้หลีกเลี่ยงการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันการได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าที่อาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรได้  


ทั้งนี้การเรียนรู้การป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้า จะช่วยให้การดำเนินชีวิตในช่วงฤดูฝนเป็นไปด้วยความปลอดภัย ท้ายนี้ หากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุบัติภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID 1784DDPM  และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง 


ข้อมูลจาก:  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ภาพจากAFP 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง