รีเซต

ไม่ควรช่วยคนถูกไฟดูดด้วยการถีบ เสี่ยงอันตรายทั้งคนช่วย-คนถูกช่วย

ไม่ควรช่วยคนถูกไฟดูดด้วยการถีบ เสี่ยงอันตรายทั้งคนช่วย-คนถูกช่วย
TNN ช่อง16
25 มิถุนายน 2567 ( 14:49 )
12
ไม่ควรช่วยคนถูกไฟดูดด้วยการถีบ เสี่ยงอันตรายทั้งคนช่วย-คนถูกช่วย

รองศาสตราจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นการช่วยเหลือคนถูกไฟดูด จากกรณีไฟดูดนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดสตูลเสียชีวิต ซึ่งตรวจสอบพบว่าเป็นไฟดูดจากตู้กดน้ำ 


อาจารย์เจษฎา มีข้อแนะนำในการช่วยเหลือกรณีถูกไฟดูด ว่า “ไม่จำเป็น ไม่ควรใช้วิธีการ “ถีบ” เพราะการถีบเพื่อให้หลุดออกไปจากไฟดูดนั้น จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตราย ทั้งคนที่เข้าไปช่วย และคนที่ถูกไฟดูด 

โดยคนที่ถูกไฟดูดอาจไปกระแทกของที่อยู่ด้านหลังจนได้รับบาดเจ็บ ส่วนคนที่ไปช่วย อาจไปทับสายไฟที่รั่วอยู่ กลายเป็นถูกไฟดูดไปอีกคนได้





แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้วิธี ถีบ ต้องดูว่าบริเวณข้างๆ เป็นพื้นที่โล่งพอให้ผู้ป่วยล้มลงไปโดยไม่เจ็บตัวหรือไม่ และให้เลือกถีบช่วงก้น หรือสะโพก ให้เร็วและแรงพอที่จะให้หลุดออกได้ในครั้งเดียว


หากไม่ถีบ ก็มีการช่วยเหลือวิธีอื่นที่ปลอดภัย เช่น มองหาสิ่งของที่เป็นฉนวนไม่นำไฟฟ้า และแห้งไม่เปียกน้ำ ไปเขี่ยสายไฟหรือสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโดนไฟดูดออกไปจากตัว หรือเขี่ย มือ แขน เท้าของผู้ที่ถูกไฟดูด ออกจากบริเวณที่มีไฟดูด ที่สำคัญคือ ต้องรักษาระยะห่างจากผู้ถูกไฟดูด เพราะอาจจะสัมผัสโดนร่างกายผู้ที่ถูกไฟดูดได้ และควรตั้งสติ สังเกตก่อนว่าไฟฟ้าที่รั่วมาจากที่ใด และหาวิธีตัดไฟฟ้า เช่น ปิดสวิตช์ หรือสับสะพานไฟ (Cut-out) และควรใส่รองเท้าด้วยก่อนเข้าไปช่วย




ส่วนวิธีการปฐมพยาบาล เริ่มจากตรวจดูว่าผู้ป่วยยังมีสติหรือไม่ หากยังมีสติ ให้นอนพัก ตรวจดูว่ามีบาดแผลร้ายแรงหรือไม่ มีรอยไฟไหม้ที่บริเวณใดหรือไม่ และในกรณีหมดสติ ไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำ CPR โดยด่วน จากนั้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้ง สายด่วนกู้ชีพ 1669




กรณีนักเรียนถูกไฟดูดตากตู้กดน้ำ อาจารย์เจษฏา ยังแนะข้อควรปฏิบัติของการวางตู้น้ำเย็นบริโภคให้ปลอดภัยของกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้


- ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเครื่องหมาย มอก. 

- ติดตั้งในบริเวณที่แห้ง ฝนสาดไม่ถึงและไม่ถูกแสงแดด 

- มีการเชื่อมต่อสายดิน ติดตั้งระบบป้องกันไฟรั่ว

- ที่ตั้งของเต้ารับหรือขั้วต่อจะต้องอยู่บนกำแพงหรือวางให้พ้นมือเด็ก 

- เต้าเสียบหรือขั้วต่อ ต้องแน่นไม่หลวมง่าย 

- หมั่นตรวจสอบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ

-หากใช้แล้วเกิดความร้อน มีประกายไฟ ควรหยุดใช้งานทันที เพระอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้



ที่มาข้อมูล : เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง