รีเซต

แกะรอยอภิมหาดีล ‘อีลอน มัสก์’ เทก ‘ทวิตเตอร์’ เสรีภาพใหม่โลกโซเชียล?

แกะรอยอภิมหาดีล ‘อีลอน มัสก์’ เทก ‘ทวิตเตอร์’ เสรีภาพใหม่โลกโซเชียล?
มติชน
29 เมษายน 2565 ( 06:39 )
43
แกะรอยอภิมหาดีล ‘อีลอน มัสก์’ เทก ‘ทวิตเตอร์’ เสรีภาพใหม่โลกโซเชียล?

อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท “เทสลา” และ “สเปซเอกซ์” สร้างความฮือฮาเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกอีกครั้ง วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา เมื่อปิด “บิ๊กดีล” เทกโอเวอร์บริษัท “ทวิตเตอร์” ด้วยเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1.5 ล้านล้านบาท

 

สร้างประวัติศาสตร์เป็นข้อตกลงเทกโอเวอร์แปรรูปบริษัทมหาชนสู่บริษัทเอกชน มูลค่ามากที่สุดในโลก

 

ไม่มีใครคาดคิดว่า มัสก์ ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลกตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ จะบ้าบิ่นถึงขนาดจะควักเงินมูลค่ามหาศาลเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณประจำปี 2565 ประเทศไทย หรือคิดเป็นมูลค่าพอๆ กับการซื้อ “บริษัท ปตท.” และ “บริษัทซีพีออลล์” พร้อมๆ กัน โดยมัสก์มีเหตุผลเพื่อนำ “ทวิตเตอร์” มาบริหารและปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการเสียเอง

 

ที่มาที่ไปของเรื่องทั้งหมดอาจเริ่มต้นมาจาก มัสก์ ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมดั้งเดิม มองว่ารากฐานของประชาธิปไตยจำเป็นต้องมี “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ในระดับที่ต้องนำทุกข้อเสนอและข้อโต้แย้งมาถกเถียงกันอย่างเสรีโดยไม่มีการปิดกั้น เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันในที่สุด แต่แนวคิดดังกล่าวกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็โต้แย้งว่า จะทำให้เกิดเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังและข้อมูลบิดเบือนต่างๆ แพร่ระบาดในสังคมและสร้างปัญหาตามมาได้

 

มัสก์แสดงออกถึงแนวคิดลักษณะนี้มาโดยตลอดรวมไปถึงการให้เหตุผลถึงการเสนอเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์ครั้งล่าสุด ที่ทวีตข้อความว่า หวังว่าคำวิจารณ์ที่แย่ที่สุดของตัวเองจะยังคงอยู่ในทวิตเตอร์ เพราะ “นั่นคือความหมายของเสรีภาพในการแสดงความเห็น”

 

มัสก์ซึ่งเข้าร่วมสมัครบัญชีกับทวิตเตอร์ครั้งแรกในปี 2009 แสดงออกถึงความชื่นชอบทวิตเตอร์ ในฐานะเวทีที่สามารถแสดงออกอย่างเสรี และเริ่มพูดถึงความสนใจในการซื้อทวิตเตอร์ครั้งแรกในปี 2017 โดยทวีตข้อความระบุว่า “ผมรักทวิตเตอร์” ก่อนจะรีพลายต่อว่า “มันราคาเท่าไหร่?”

 

แน่นอนว่าแนวคิดของมัสก์ขัดกับแนวทางของ “เฟซบุ๊ก” อย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงหลัง “เฟซบุ๊ก” มีนโยบายการควบคุมดูแลเนื้อหาและการแสดงออกอย่างมากมาย จนบางครั้งก็เกินขอบเขตมาตรฐานชุมชนที่กำหนดเอาไว้

 

บวกกับการมาถึงของกระแส #DeleteFacebook ที่มีขึ้นพร้อมกรณีฉาว “เคมบริดจ์ อนาไลติกา” ที่เฟซบุ๊กมีส่วนให้มีการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้นำไปใช้หากินในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่ออีกทอด จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในเวลานั้น

 

มัสก์เองก็ร่วมแสดงออกในแคมเปญ #DeleteFacebook ด้วยการลบบัญชีของตนเอง รวมถึงบัญชีของ “เทสลา” และ “สเปซเอ็กซ์” ออกจากเฟซบุ๊กทั้งหมดในปี 2018

 

โดยมัสก์ระบุถึงเหตุผลสั้นๆ ว่า เฟซบุ๊กนั้น “ไม่ได้เรื่อง”

 

จากนั้นมัสก์ใช้ทวิตเตอร์เป็นเวทีเดียวในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่มัสก์เองก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ทวิตเตอร์มากขึ้นเช่นกัน เมื่อทวิตเตอร์เริ่มมีนโยบายควบคุมเนื้อหามากขึ้น รวมไปถึงมีการแบนบัญชีบุคคลต่างๆ มากขึ้น รวมถึง โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ถูกแบนบัญชีถาวรจากการปลุกระดมเหตุจลาจลบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อปี 2021 เนื่องจากไม่พอใจผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

 

การเดินหน้าเทกโอเวอร์ของมัสก์ ช่วงต้นเดือนเมษายนเริ่มเข้าซื้อหุ้นทวิตเตอร์และมีสัดส่วนหุ้นมากถึง 9.2 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์รายใหญ่ที่สุด

 

แน่นอนว่าการมีสัดส่วนหุ้นมากที่สุด จะทำให้มัสก์สามารถเข้าไปนั่งเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารและร่วมลงคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ของทวิตเตอร์ได้ แต่มัสก์ไม่ได้หยุดแค่นั้น ในวันที่ 10 เมษายน มัสก์ปฏิเสธคำเชิญของผู้บริหารทวิตเตอร์ที่จะเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดบริหาร

 

นั่นจึงเป็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นว่า มัสก์กำลังวางแผนเทกโอเวอร์

ในที่สุดวันที่ 14 เมษายน มัสก์ยื่นข้อเสนอเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์ ด้วยเงินมูลค่ารวม 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นราคาต่อหุ้นอยู่ที่ 54.20 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าตลาดในช่วงต้นเดือนเมษายนถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังคงต่ำกว่าราคาหุ้นสูงสุดที่เคยทำได้ ที่ 73.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นเมื่อปี 2021

 

แม้เงินจำนวนดังกล่าวจะมหาศาล แต่หากเทียบกับสินทรัพย์สุทธิที่มัสก์มีในระดับ 264,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว คิดเป็นเงินไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินที่มัสก์มีทั้งหมด

 

การเปลี่ยนแปลงจากบริษัทมหาชนไปสู่การครอบงำกิจการของคนคนเดียว ย่อมไม่ใช่เรื่องดีสำหรับบอร์ดบริหาร จึงนำไปสู่การออกมาตรการ “วางยาพิษ” เพื่อใช้ต้านการครอบงำกิจการ ด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นในราคาถูก เพื่อลดแรงจูงใจในการเข้าครอบงำกิจการลง

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ได้ผล เมื่อมัสก์ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “เทนเดอร์ออฟเฟอร์” หรือการเสนอขายหุ้นในราคาที่เย้ายวนใจให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นแต่ละรายโดยตรง วิธีการนี้บอร์ดบริหารหรือพนักงานบริษัทจะไม่สามารถเข้าแทรกแซงการตัดสินใจได้

 

และนั่นก็เป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ไม่ยากสำหรับบรรดาผู้ถือหุ้นใหญ่ของทวิตเตอร์ที่กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นบรรดาบริษัทบริหารหลักทรัพย์ที่จะสามารถทำกำไรได้ในทันที

 

สุดท้ายบอร์ดบริหารทวิตเตอร์จึงต้องหารือกับมัสก์ และประกาศในวันที่ 25 เมษายนว่า บรรลุข้อตกลงในการเข้าเทกโอเวอร์ด้วยมูลค่า 43,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในที่สุด

 

หลังจากอีลอน มัสก์ ครองบัลลังก์เหนือทวิตเตอร์แล้ว หลังจากนี้มัสก์จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเปลี่ยนแปลงทวิตเตอร์ได้อย่างที่ใจต้องการ หนึ่งในนั้นที่น่าจะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือ การควบคุมเนื้อหาที่จะลดความเข้มข้นลง และกลายเป็นเวทีแห่ง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น”

เรื่องนี้ก็สร้างความกังวลจากหลายฝ่ายว่าอาจส่งผลให้เกิดเนื้อหาสร้างความเกลียดชัง ที่อาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์อย่างเหตุจลาจลที่รัฐสภาสหรัฐที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย รวมไปถึงอาจมีเนื้อหาบิดเบือน หรือข่าวปลอมแพร่ระบาดสร้างความปั่นป่วนในสังคมมากขึ้น

สิ่งที่มัสก์เคยประกาศไว้ว่าต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงกับทวิตเตอร์ก็คือ จัดการกับ “แอคหลุม” โดยอาจมีการดำเนินการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ใช้งาน รวมถึงการจัดการกับ “สแปมบอต” ที่ส่งข้อความหรือลิงก์แปลกๆ จำนวนมากที่สร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้งาน การเปิดให้อัลกอริทึมของทวิตเตอร์เป็น “โอเพนซอร์ซ” เรื่อยไปจนถึงการเพิ่มปุ่ม “แก้ไข” ข้อความที่ชาวทวิตเตอร์เรียกร้องมาโดยตลอด เป็นต้น

ในเวลานี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “ทวิตเตอร์” ภายใต้การนำของ “อีลอน มัสก์” จะเปลี่ยนแปลง พลิกโฉมจากเดิมมากน้อยขนาดไหน

คำตอบของคำถาม คงปรากฏ ในอีกไม่นานนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง