รีเซต

ทริปทรหด2พันกิโล อินเดียเดินฝ่าโควิด พอถึงบ้านเพื่อนถูกงูกัดตาย

ทริปทรหด2พันกิโล อินเดียเดินฝ่าโควิด พอถึงบ้านเพื่อนถูกงูกัดตาย
ข่าวสด
1 มิถุนายน 2563 ( 03:01 )
196
ทริปทรหด2พันกิโล อินเดียเดินฝ่าโควิด พอถึงบ้านเพื่อนถูกงูกัดตาย

 

ทริปทรหด2พันกิโล - เมื่อ 31 พ.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานเรื่องราวชีวิตสุดทรหดของคนงานต่างถิ่นชาวอินเดียที่ต้องเดินเท้าและโบกรถตามเส้นทาง เป็นระยะทางไกล 2,000 ก.ม. จากภาคใต้ขึ้นไปยังบ้านเกิดที่ภาคเหนือของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. ทำให้ไม่มีงานทำและไม่มีเงินค่าเดินทาง

 

อินเดียมีแรงงานจากชนบทที่เข้าไปทำงานในเมืองอยู่ถึง 100 ล้านคน นายราเชศ ชูฮัน อายุ 26 ปีเป็นคนหนึ่งที่เคว้งคว้างไม่มีทางไป และไม่มีทางอยู่รอดในเมือง ดิ้นรนได้เพียงเดินกลับบ้าน

สมาชิกเพื่อนเดิมทาง / CNN

 

ชายหนุ่มเข้ามาทำงานที่เมืองเบงกาลูรู หรือ บังกาลอร์ เมื่อเดือนธันวาคมปี 2562 เพื่อมาทำงานก่อสร้าง เนื่องจากเงินที่ได้รับมากกว่าที่บ้านเกิดสองเท่า หรือ 105 บาทต่อวัน

เมื่อรวมกับพี่ชายที่ทำงานอยู่ต่างรัฐ รวมกันได้ 5,900 บาทต่อเดือน เพียงพอที่จะส่งไปเลี้ยงคนในครอบครัว 11 ชีวิต รวมถึงลูกเล็กของชูฮันด้วย 2 คน

 

พ่อแม่ที่แก่ชราของชูฮันอาศัยอยู่กระต๊อบในไร่ที่ปลูกอ้อยและข้าวสาลี ส่วนหลานของชูฮัน ตามมาทำงานในเมืองด้วย เมื่ออายุครบ 14 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ชายหนุ่มจำเป็นต้องกลับบ้านเหมือนคนงานต่างถิ่นคนอื่นๆ ปกติแล้ว การเดินทางกลับบ้านใช้เวลา 2 วัน ถ้านั่งรถโดยสารที่ราคาต่ำที่สุด ใช้เงินราว 130 บาท แต่ในช่วงโควิด ราคาพุ่งสูงถึง 510 บาท

 

คนงานต่างถิ่นออมาขอซื้อตั๋วรถบัส ที่เมืองเบงกาลูรู May 23, 2020. (Photo by Xinhua)

 

ตามมาตรการของรัฐ ตำรวจจะเป็นผู้ขายตั๋วรถโดยสารเพื่อควบคุมฝูงชนที่ทะลักทะล้น และสำหรับตำรวจที่เมืองบังกาลอร์ เมื่อสิ้นสุดเวลาขายตั๋วแล้ว แต่ฝูงชนยังไม่ยอมกลับ ก็จะใช้ไม้กระบองตีให้สลายตัวไป

 

"พวกเราถูกตีหลายครั้งมาก การที่เราจนไม่ได้หมายความว่าเจ็บไม่เป็นนะ" ชูฮันกล่าวด้วยความน้อยใจ และว่าจากนั้นเมื่อไม่ได้ตั๋วรถ จึงตัดสินใจเดิน และไม่กล้าจะบอกที่บ้านด้วยซ้ำว่าจะใช้หนทางนี้กลับบ้าน

 

"พ่อผมป่วยเป็นเบาหวานหนัก ถ้ารู้พ่อต้องแย่แน่ และถ้าแม่ผมรู้ว่าเราต้องเดินกลับบ้านโดยไม่มีเงิน พวกท่านต้องร้องไห้ไปจนเราเดินทางไปถึง เราทั้งหมดจึงต่างบอกครอบครัวว่าเรานั่งรถไฟกลับ" ชูฮันกล่าว

 

 

คนงานต่างถิ่นมากมายที่ไม่มีทางเลือกแบบนี้ และบางคนก็ไปไม่ถึงจุดหมาย เช่น 16 คนที่ไปพักหมดแรงจนหลับไปอยู่ตามรางรถไฟ และถูกรถไฟวิ่งทับตาย เป็นข่าวสะเทือนใจไปทั่วโลก

 

ชูฮันเองก็รู้ถึงความเสี่ยงในการเดินทาง แต่ตัดสินใจว่าต้องเดินออกจากเมืองเบงกาลูรู หรือเบงกาลอร์ ศูนย์กลางไอทีของประเทศ เพื่อกลับหมู่บ้านที่รัฐอุตตรประเทศ

ชายหนุ่มเก็บเสื้อ 4 ตัวใส่กระเป๋า พร้อมผ้าปูที่นอน ขวดน้ำ 2-3 ขวด และในกระเป๋าเงินมีอยู่ 72 บาท ออกเดินตั้งแต่ช่วงตีสาม วันที่ 12 พ.ค. เดินไปได้เพียงสองวัน รองเท้าแตะก็ขาด เพื่อนในกลุ่มที่ต่างเป็นคนงานต่างถิ่นช่วยกันแบ่งเงินซื้อคู่ใหม่ให้

 

เพื่อนร่วมทาง 11 คนใช้มือถือด้วยกัน 9 เครื่องสำหรับดูกูเกิ้ลแม็ปเป็นเข็มทิศนำทาง เพื่อจะให้โทรศัพท์มีแบตเตอรี ต้องให้คนเดียวเท่านั้นที่ชาร์จได้ในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ ระหว่างการเดินก็อยากจะพักหรืองีบ แต่ทกคนรู้ว่าถ้าลองได้นั่งพักแล้ว จะยากยิ่งกว่าที่จะเดินต่อ

 

 

ชูฮันใช้เวลา 5 วันเดินทางไปได้ครึ่งทาง หรือราว 1,000 ก.ม. ที่เมืองนาคปุระ ขาปวดระบม เท้าพอง แต่ล้มเลิกไม่ได้ แม้ต้องเดินกลางสภาพอากาศร้อนจัด 40 องศาเซลเซียส แต่ละวันต้องผ่านด่านตรวจของตำรวจ ดื่มชาและกินบิสกิตประทังชีวิต

 

"ผมคิดว่า คงจะไม่มีทางลืมการเดินทางนี้ไปตลอดชีวิต มันมีความทรงจำที่สุดเศร้าและแสนเครียด"

 

ชูฮันเล่าว่า บนเส้นทางที่เดินกลับบ้านได้เห็นคนงานต่างด้าวอื่นๆ ที่เดินทางกลับบ้านเหมือนกันไปยังพื้นที่ยากจน เช่น รัฐโอริสา รัฐฉัตตีสครห์ รัฐเบงกอลตะวันตก รัฐพิหาร และรัฐอุตตรประเทศ แหล่งส่งแรงงานต่างถิ่นเข้าเมือง

 

คนงานเหล่านี้ต่างมีพื้นเพ วรรณะ และศาสนาที่แตกต่างกัน อย่างคนในกลุ่มของชูฮันก็มีทั้งวรรณะพราหมณ์ ไปถึงวรรณะจัณฑาล ซึ่งเผชิญชะตากรรมไม่แตกต่างกัน

การเดินบนทางหลวง มีความเสี่ยงโรคโควิดน้อย แต่ที่น่าวิตกต่อสุขภาพมากกว่านั้นคือความหิว กระหายน้ำ เหนื่อย และปวด

 

วันที่ 10 ของการเดินทาง เมื่อมาถึงเมืองคนทา อีก 30 ก.ม. จะถึงหมู่บ้าน นายอารวินท์ ฐากูร หลานของชูฮัน ที่มีไข้ระหว่างทางเกิดล้มลงหน้าทิ่มพื้น เพื่อนร่วมทางพยายามปลุกให้ตื่นโดยใช้น้ำราดและทุลักทุเลพากันไปต่อ จนเหลือระยะห่างจากบ้านอีก 3.2 ก.ม. ทั้งหมดวิ่งขาลากเข้าไปยังสถานีตำรวจ และยอมให้กักตัวไว้ตามมาตรการ

 

ที่รัฐอุตตรประเทศ รัฐที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดีย มีคนงานต่างถิ่นระหว่างรัฐอยู่มากกว่า 807,000 คน ทุกคนที่กลับเข้ามาต้องถูกกักตัวไว้ดูอาการ 14 วัน เมื่อวันที่ 24 พ.ค. เจ้าหน้าที่ตรวจหาเชื้อได้ 5 หมื่นคน พบผู้ติดเชื้อ 1,569 คน

 

เมืองไฮเดอราบัด รัฐอันธรประเทศ

 

ชูฮันน้ำหนักลดไป 10 ก.ก. เท้าระบมจนเดินไปห้องน้ำในโรงเรียนที่ใช้กักตัวแทบไม่ได้ จนวันที่ 24 พ.ค. ครอบครัวได้รับอนุญาตให้พบชูฮันได้ ลูกๆ โผเข้ากอดพ่อแน่น จนชูฮันกล่าวว่า ลืมความเจ็บปวดไปขณะนั้น

 

ต่อมาชูฮันได้รับอนุญาตให้ไปเยี่ยมบ้าน ไปร้านขายยา ซึ่งชายหนุ่มไปกู้เงินมาจ่าย เมื่อมองบ้านหลังคาใบจากของครอบครัวแล้ว ชูฮันก็นึกถึงความสำคัญที่ต้องไปทำงานที่เบงกาลูรูเพื่อมาจุนเจือครอบครัว

 

เส้นทางจากใต้ชึ้นเหนือ

 

ต่อมาวันที่ 25 พ.ค. เกิดโศกนาฏกรรมสุดเศร้า เมื่อชายหนุ่มที่เดินทางในคณะ 11 คนมาด้วยกัน ชื่อ ซัลมาน อายุ 30 ปี ถูกงูพิษกัดตาย หลังจากเพิ่งออกจากสถานที่กักตัวกลับบ้าน ชายหนุ่มไปสิ้นใจที่โรงพยาบาล

 

แต่ละปี อินเดียมีคนถูกงูกัดตายมากกว่า 45,000 ราย แต่ชะตากรรมของซัลมานสะเทือนใจทุกคน งานศพของซัลมาน มีคนมาร่วมมากกว่า 200 คน รวมถึงครอบครัวของชูฮัน

ชูฮันเศร้าโศกเสียใจมาก และทำให้คิดได้ว่า ความยากจนที่หมู่บ้าน ความหิวโหยของครอบครัว และหนี้ที่ต้องจ่ายค่ารักษาคนในครอบครัว เขาต้องกลับไปทำงานในเมืองอีก

"ตอนที่ผมออกจากเบงกาลูรู ผมคิดว่าจะไม่กลับไปอีก แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้ตอนนี้คือ รออีกสองสามสัปดาห์ ถ้ามีการคลายล็อกดาวน์ ก็จะต้องกลับไปทำงานอีก"

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รถไฟอินเดีย แล่นทับตายหมู่ 16 แรงงาน เผลอหลับบนรางระหว่างเดินกลับบ้าน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง