นักดื่มกลัวโควิด! ดื่มเหล้าลดลง 70% ชี้เหตุผลเสียสุขภาพ-ประหยัดเงิน
วันนี้ (3 มิ.ย.64) ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า ได้ร่วมกับ สสส. สำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ระหว่างวันที่ 24-28 เมษายน ถึงพฤติกรรมการดื่ม
ในช่วง 30 วันก่อนการสำรวจ มีกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านเลย มาถึง ร้อยละ 28.4 และกลุ่มดื่มน้อยลง ร้อยละ 41.9 ขณะที่มีกลุ่มที่ดื่มเท่าเดิม ร้อยละ 28.1 และกลุ่มที่ดื่มเพิ่มขึ้นมีเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้น
โดยเหตุผลที่หยุดดื่มและดื่มน้อยลง คือ ต้องการรักษาสุขภาพเพราะกลัวติดโควิด-19 และต้องการประหยัดเงิน ส่วนในกลุ่มที่ดื่มเท่าเดิม ดื่มเพิ่มขึ้น ให้เหตุผลคือ ดื่มเป็นประจำ ดื่มจนติด อดไม่ได้
ส่วนสถานที่สำหรับคนดื่มในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เกือบ 3 ใน 4 คน หรือร้อยละ 66.4 เป็นการดื่มที่บ้านตนเอง รองลงมา ผับ บาร์ คาราโอเกะ ร้านอาหาร ร้อยละ 12.6 ดื่มที่บ้านคนอื่น ร้อยละ 8.3
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด (เมษายน 2563) พบว่า ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2564 กลุ่มตัวอย่างมีการดื่มลดลง ร้อยละ 71.6 ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีการดื่มลดลงร้อยละ 51.5 ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐ รวมถึงการที่ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มของประชาชนอย่างมาก
ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ อดีตกรรมการกองทุน สสส. และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เผยว่า การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับเป็นการปฏิบัติที่ดีต่อตนเองและครอบครัว เพราะการดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ภูมิต้านทานลดลง และมีส่วนสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ลดโอกาสในการทะเลาะวิวาทในครอบครัว และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เสียไปเพื่อแอลกอฮอล์ เปลี่ยนมาเป็นเงินเก็บให้ครอบครัวอีกด้วย