รีเซต

พบหลุมดำ 'มวลมหาศาล’ หายาก มีมวล 33 พันล้านเท่าของดวงอาทิตย์

พบหลุมดำ 'มวลมหาศาล’ หายาก มีมวล 33 พันล้านเท่าของดวงอาทิตย์
TNN ช่อง16
2 เมษายน 2566 ( 19:44 )
198

ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอร์แฮม (Durham University) แห่งสหราชอาณาจักรและสถาบันมักซ์พลังค์ (Max Planck Institute) แห่งเยอรมนีได้ค้นพบหลุมดำมวลมหาศาลที่ประมาณการว่ามีมวล 33 พันล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ ซึ่งมีมวลมากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ


โดยหลุมดำดังกล่าวตั้งอยู่ที่ใจกลางของกาแล็กซีเอเบล 1201 (Abell 1201) ซึ่งเป็นกาแล็กซีทรงรีขนาดมหึมาที่อยู่ห่างจากโลกของเราออกไปประมาณ 2.7 พันล้านปีแสง


เทคนิคการนำภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศมาสร้างแบบจำลอง 

การค้นพบครั้งนี้ใช้เทคนิคการสร้างแบบจำลองด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งได้ภาพสำหรับสร้างแบบจำลองมาจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) โดยในภาพแสดงให้เห็นลักษณะของแสงที่โค้งไปรอบ ๆ วัตถุขนาดใหญ่บางอย่าง ณ ใจกลางของกาแล็กซีเอเบล อันเป็นลักษณะที่หลุมดำกระทำกับแสงหรือที่เรียกว่าปรากฎการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง (Gravitational Lensing) 

โดยการค้นพบนี้สอดคล้องกับทฤษฎีที่ว่าใจกลางของกาแล็กซีขนาดใหญ่ทุกแห่งมีหลุมดำมวลมหาศาลอยู่ที่ใจกลาง ซึ่งจะมีมวลมากกว่า 100,000 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ เป็นอย่างน้อย


การค้นพบหลุมดำที่ไม่ทำงาน 

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยังอ้างด้วยว่าเราสามารถใช้ปรากฎการณ์เลนส์ความโน้มถ่วงเพื่อตรวจหาหลุมดำที่ไม่ทำงานแล้วได้ แม้ว่าหลุมดำที่ไม่ทำงานแล้วจะมีการดูดกลืนสสารโดยรอบและปล่อยออกมาในรูปของรังสีเอ็กส์ (X-rays) และช่วงคลื่นต่าง ๆ ในระดับที่น้อยมาก ๆ แต่มันยังคงมีมวลมากจนทำให้กาลอวกาศโค้งงอ ซึ่งทำให้เกิดปรากฎการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง


สำหรับการค้นพบครั้งนี้ถูกตีพิมพ์ลงบนวารสารวิทยาศาสตร์ “Monthly Notices of the Royal Astronomical Society (ประกาศรายเดือนของสมาคมรอยัล แอสโตรโนมิคัล)” เมื่อวันพุธที่ 29 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเทคนิคการค้นพบที่ใช้ในการค้นพบครั้งนี้จะกลายเป็นรากฐานสำหรับการตรวจหาหลุมดำที่อยู่ห่างไกลโลกของเรา

ข้อมูลและภาพจาก Durham University  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง